16 กุมภาพันธ์ 2555

ครั้งหนึ่งของคมกับ...โหมโรง

กิจกรรมสายฟ้าที่เกือบจะล่ม

          กิจกรรมใหม่ของคมช่วงนี้ยังไม่มีเนื่องจาก คมติดภารกิจการเรียนอันเป็นหน้าที่หลักซึ่งอยู่ในช่วงสำคัญ จึงขอนำกิจกรรมที่คมเคยทำไว้มาให้ติดตามดู
 
 
            ขณะนี้ละครเรื่อง"โหมโรง" กำลังแพร่ภาพที่ช่องไทยพีบีเอส (เริ่ม ม.ค. 2555 เป็นต้นมา) คงเป็นที่ชื่นชอบของคนรักดนตรีไทยแน่นอน และได้เผื่อแผ่ไปถึงคนที่ไม่เคยสนใจดนตรีไทยให้หันมาชม รู้ซึ้งคุณค่าของดนตรีไทยทีมีมานานเพิ่มมากขึ้น การจัดละครแต่ละฉาก ใกล้เคียงในภาพยนตร์ที่ทำไว้ เพียงแต่เปลี่ยนตัวแสดง รายละเอียดของตัวละครมีมากขึ้น และเพลงประกอบแต่ละฉากเปลี่ยนใหม่ยังคงน่าสนใจ

  
            ครั้งหนึ่งของคม...กับละครโหมโรง เริ่มต้นที่ช่วงวันสงกรานต์ปีที่แล้ว (ปี 2554) จำได้ว่า คมดีใจที่ใกล้จะถึงวันเดินทางไปเที่ยวบ้านยายที่ต่างจังหวัด มันเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ที่คมเฝ้ารอให้ถึงทุกปี่ แค่ทนคอยอีกไม่ถึง 10 ชั่วโมงก็จะได้ไปบ้านยายแล้ว การเตรียมข้าวของที่จะออกเดินทางก็พร้อมแล้วในวันพรุ่งนี้เช้า 

         ในคืนเดียวกันช่วงหัวค่ำ ได้มีโทรศัพท์จากผู้อำนวยการของโรงเรียนดนตรีฯ โทรมาชวนด้วยตนเองว่า ให้คมไปทดสอบหน้ากล้องเรื่อง”โหมโรงภาค ๒” เป็นตัวนายศรช่วงอายุ 10 ปี ให้มาที่โรงเรียนในวันพรุ่งนี้เช้า เล่นเอาตกตะลึง! กันทั้งบ้าน ส่วนคมก็ตกใจวิ่งหลบหลังโต๊ะ ร้องว่า "โอย อย่า ๆ ๆ ไม่เอา ๆ พี่บัญชาโทรมาบอกก่อนแล้ว คมไม่เอา จะไปบ้านยายเท่านั้น”

            เขาเน้นเสียงหนัก แม่เห็นอาการคมแล้วหนักใจเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนใจเขา จึงถามเขาว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ คมอธิบายว่า “แม่ครับ ทุกครั้งที่คมออกงาน คมต้องรู้ว่าจะไปทำอะไร มีขอบเขตแค่ไหน  แต่เรื่องการแสดงอะไรนี่ คมไม่รู้ ทำไม่เป็น คนก็เยอะ อายเขา” และแม่ก็เข้าใจความรู้สึกเขา เรื่องนี้แปลกใหม่และกะทันหันจริงๆ ต่างคนต่างเงียบ

            แม่ครุ่นคิดหาคำพูดมาลองให้เขาเปลี่ยนใจดู จึงเริ่มคำพูดกับเขาว่า “เข้าใจคำว่า โอกาส ไหมลูก มันสร้างให้คนสำเร็จในแต่ละด้านมามากต่อมากแล้ว โอกาสไม่เคยวิ่งไปหาใครถ้าไม่ไขว่คว้า แต่นี่มันวิ่งมาชนเราเชียวนะ โหมโรงเป็นเรื่องที่คมชอบไม่ใช่หรือ ไปดูซิ เขาทำอะไรกัน”

            แม่พยายามชักจูงให้เขาเห็นความสำคัญของการเปิดโลกทัศน์สู่ภายนอก เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ฝึกการปรับตัว และอธิบายสิ่งยากๆ ที่เขาเคยทำมาเพื่อให้เขามีพลังใจและเชื่อมั่นในตัวเอง เรียนรู้วิถีการแสดงแม้แต่นักดนตรี ไม่กลัวสิ่งที่เขาต้องเผชิญ

           ในส่วนของคม เขาคิดหาคำพูดมาโต้แย้งเช่นกัน ในด้านเหตุผลเขายอมรับ แต่ในด้านอารมณ์ความเป็นเด็กเขาก็มี คือกลัวจะไม่ได้เล่นสนุกหรือมีเวลาน้อยที่บ้านยาย ทำให้เขาไม่อยากไปงานนี้ แม่ก็ลองให้เขาคิดเทียบดูที่สาระว่าควรทำสิ่งใด และไม่มาคิดเสียดายโอกาสในภายหลัง

             เช้าวันรุ่งขึ้น แม่พาคมไปที่โรงเรียนดนตรีฯ มีทั้งเด็กและผู้ปกครองมากเป็นพิเศษ ผู้อำนวยการให้ขึ้นไปชั้น2 ปรากฏว่า โรงเรียนมีกิจกรรมบรรเลงดนตรีไทยวงใหญ่รับวันสงกรานต์ซึ่งมีทั้งคุณครูและลูกศิษย์ร่วมเล่นกันอยู่ คมถูกเรียกให้เข้าร่วมบรรเลงครั้งนี้ด้วย เอาละซิ อันนี้ไม่รู้ตัวล่วงหน้า และคมก็ไม่ได้เล่นร่วมวงกับใครมาหลายเดือนแล้ว 
 

            คมต้องปรับตัวตั้งสติ เขาเล่นเพลงอะไรกันอยู่ฟังเอาเอง เดี๋ยวตีระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ คนในวง ใครเอกเครื่องอะไร ถนัดเพลงอะไรเขาก็จะมาเล่นเครื่องของเขา แล้วให้คมไปเล่นเครื่องอื่น แล้วสิ่งที่คมยอมมาทำ เมื่อไหร่จะเริ่ม แล้วเมื่อไหร่จะเสร็จ คมเต็มไปด้วยความหงุดหงิด แต่ก็เล่นดนตรีต่อไป

  

 
         แม่เห็นคมอึดอัดก็ไปเที่ยวถามคนที่มาร่วมงานด้วยกัน ว่าเขาจะเริ่มทดสอบตัวแสดงเมื่อไหร่ ไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจน จนต้องถามผู้อำนวยการ เขาบอกว่า ทีมงานฯ กำลังเดินทางมาน่าจะถึงก่อนเที่ยง ช่วงเวลาที่คอยคมต้องอยู่ร่วมบรรเลงเพลงกับวงนานเป็นชั่วโมงๆ โดยไม่ได้ตั้งตัว และไม่อาจหนีหน้าที่นักดนตรีได้ แม้ไม่อยากเล่นเลยก็ตาม

          เมื่อถึงเวลาระทึกขวัญอันรอคอยของคม เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน  รู้จักบ้าง ไม่รู้จักบ้าง ถูกเรียกตัวมารวมกันในห้องที่ทางโรงเรียนจัดเตรียมไว้ เริ่มด้วยการให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดในบทแสดง โดยพี่ทีมงานแต่งตัวให้ สำหรับคมดูเพื่อนแต่ละคนอาการเฉยๆ ดูธรรมดาๆ เขาคงเตรียมตัวมาดี และมีใจจะมา ดูแล้วไม่เครียด ทำให้คมผ่อนคลายไปด้วย  


            ตัวคมพยายามทำใจทั้งคืน นอนก็ไม่ค่อยหลับ และอยากมาทำให้เสร็จซะเร็วๆ พอพี่ทีมงานให้ทำสิ่งใด คมจึงตั้งใจทำทันที พร้อมก่อน ทดสอบก่อน บรรยากาศหน้าห้องทดสอบมีผู้ปกครองและผู้ที่สนใจมุงดูกันแน่นห้อง คมถูกเรียกคิวที่ 2 ทดสอบฝีมือการตีระนาดเอกเพลงให้เลือกเอง คมเลือกเพลงโหมโรงจีนตอกไม้ และมีบางส่วนของวีดีโอที่บันทึกไว้มาให้ชม (งานนี้เก็บภาพมาเล็กน้อยเพราะกล้องแบตฯหมด เตรียมไม่ทันค่ะ)



            เมื่อตีระนาดเสร็จก็ต่อด้วยการถ่ายรูปเพื่อดูบุคลิกและการขึ้นกล้องเพียงใด มีการให้แสดงท่าทาง การยิ้ม ปั้นหน้าวางท่า (อันนี้คมแสดงไม่ออกเลย พี่เขาต้องช่วยจัดท่าให้) มีการทดสอบเสียงโดยการพูด  ออกเสียงให้ชัดเจน โดยกล่าวถึงประวัติตัวเองให้ครบถ้วนที่สุด คมผ่านช่วงนี้ได้เร็ว สลับกับคนอื่นๆ จากนั้นพี่เขาให้ไปนั่งท่องบทตัวแสดงเป็นนายศรตอนอายุ 10 ขวบ สนทนากับเพื่อนชื่อทิวและแม่ พี่เขาอธิบายที่มาว่า ศรไปตลาดกับแม่ เห็นทิวขโมยมะม่วงใต้ร้านค้าที่ศรยืนอยู่ใกล้ๆ จึงก้มดู มีบทพูดที่คมพอจำได้ว่า 
  

           ในส่วนท่องบท คมไม่มีปัญหา เมื่อถึงคิวออกแสดงโดยเล่นเป็นศร ส่งบทกับพี่ทีมงานเล่นเป็นแม่และทิว คมพอเข้าใจในบทสมมุตินี้ บทคล่องแต่เล่นเร็วไป ไม่ได้จังหวะที่เป็นธรรมชาติ ยิ่งตอนให้แสดงออกอาการดีใจเล่นได้ไม่หวือหวา เพราะคมไม่ชอบออกท่าทาง ทำใหม่ก็ดีขึ้นเล็กน้อย และคมก็รู้ตัวว่าทำได้ไม่ดี


           บททดสอบการแสดงของคมเสร็จสิ้นลงแล้ว เขารู้แล้วรสชาติการแสดง คนแสดงต้องหลุดจากความเป็นตัวเอง ต้องเสแสร้งทำท่าโน้นท่านี้แบบเนียนๆ ไม่เขิน เรียกให้ถูกก็คือ ศิลปะการแสดง ไม่อยากยิ้มก็ต้องยิ้ม คมว่า ”มันแปลกๆ ที่เรายิ้มโดยไม่มีเรื่องขำทำไม่ได้จริงๆ ยิ่งไม่ชอบถ่ายรูป ไม่ชอบเก๊กท่า ผ่านเหตุการณ์นี้มาได้พอใจแล้ว คมดูผ่อนคลายสบายใจขึ้นจึงพูดต่อ “นี่แม่ตอนคมเล่นบทนายศรตอบโต้กลับพี่เขา มันก็สนุกอยู่เหมือนกัน แต่คมก็อยากให้มันเสร็จเร็วๆ” แม่พูด “น่าภูมิใจที่คมรับโอกาสมางานนี้ทำให้รู้จักปรับตัว รับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่กลัวสิ่งที่ต้องเผชิญ ผลของมันไม่สำคัญ ทำได้ดีแล้ว ต่อจากนี้ไปเที่ยวให้เต็มที่กันเลย



           เหตุการณ์ที่ผ่านมานี้เป็นครั้งหนึ่งของคมกับ...โหมโรง ละครทางทีวีที่เคยเป็นภาพยนตร์ประทับใจของคนกลุ่มหนึ่ง จุดประกายไฟให้กับวงการดนตรีไทยได้มีพลังชีพเฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้ง ผู้ที่ได้รับชมจะอยากเล่นดนตรีไทยกันเป็นทิวแถว เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหลายๆ คนอยากตีระนาดเอกรวมทั้งคมด้วย จึงเป็นสิ่งภูมิใจที่ได้เกี่ยวข้องในกิจกรรมครั้งนี้ ...ขอกล่าวขอบคุณผู้ที่ได้เชิญชวนให้คมไปร่วมกิจกรรม อาจารย์สุวิทย์ สากฤษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนดนตรีสยามพัฒนา (SPN) และโรงเรียนดนตรีเบญจรงค์ ไว้ ณ ที่นี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น