06 ตุลาคม 2555

เพลงประกอบการแสดง

บทบาทของเพลงประกอบการแสดง

              คมได้ห่างหายจากการทำกิจกรรมหน้าเวปมานาน  พยามยามจะหาเวลาว่างมาเล่นเพลงและบันทึกเสียงโดยบรรเลงคนเดียวอย่างเคย ครั้งนี้ได้นำเพลงประกอบการแสดงที่คมชอบมาฝาก เพลงแรก...ตับภุมริน มักใช้ในการแสดงมโหรีวงใหญ่ ในโอกาสที่ดูโอ่อ่าหรูหรา เพลงที่สอง...ลาวต้อยตริ่ง ใช้ประกอบการแสดงในโอกาสทั่วไป และเพลง...กระต่ายเต้น ใช้ประกอบการแสดงในโอกาสทั่วไปเช่นกัน เพลงนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มพื้นบ้านมักจะได้ยินได้ฟังบ่อยในการแสดงลิเกตามท้องถิ่นเป็นเพลงสุดท้าย 




เพลงตับภุมริน

           ตับภุมรินแบบสมบูรณ์ จะเป็นเพลงบรรเลงแบบ ร้องรับ สามท่อนแรกแต่งโดย หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) แต่งถวาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย (ทูลกระหม่อมติ๋ว) เพื่อประกอบละครดึกดำบรรพ์เรื่องจันทกินรีซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของพระองค์ บทร้องที่ทรงพระนิพนธ์ตอนนี้มีพระราชประสงค์มีบทร้องและทำนองเลียนแบบตับแม่ศรีของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เมื่อ พ..ศ. ๒๔๗๖ เมื่อหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) โอนจากกระทรวงวังไปเป็นหัวหน้าแผนกดุริยางต์ไทย กรมศิลปากร จึงนำเพลงตับภุมรินมาบรรเลงขับร้องอีกครั้งหนึ่ง โดยก่อนทีนำมาบรรเลงขับร้อง ได้มอบให้ นายมนตรี ตราโมท แต่งเนื้อร้องเพิ่มอีก ๑ บท ส่วนตัวท่านเองได้แต่งทำนองขึ้นรับอีก ๑ ท่อน ทำให้เพลงตับภุมรินนี้มี ๔ ท่อนเท่ากับเพลงตับแม่ศรีทรงเครื่อง เนื้อเพลงบรรยายถึงบรรยากาศของสวนและดอกไม้ที่มีแมลงมาบินมาดอมดมดอกไม้ และนกชนิดต่างๆ พากันส่งเสียงร้องอยู่ตามกิ่งไม้








เนื้อหาและลักษณะเพลง  

ภุมรินเป็นเพลงตับ (เพลงตับ หมายถึง เพลงที่นำเสียงร้องและบรรเลงมารวมกัน จะต้องมีสำนวนทำนองสอดคล้องต้องกัน คือ มีเสียงขึ้นต้นเพลงคล้ายๆ กัน คือ สำเนียงคล้ายๆ กัน เป็นเพลงในอัตราจังหวะเดียวกัน) เพลงตับภุมรินมี ๔ ท่อน ท่อนแรกบรรยายเกี่ยวกับแมลงพวกผีเสื้...นกสาริกา...นกสีชมพู...นกยูง ตามลำดับ


ในส่วนของคมได้นำเพลงนี้มาบรรเลงโดยตัดเสียงร้องออก เสียงดนตรีหลักคือระนาดเอก ใช้เสียงตามหรือเสียงล้อด้วยซออู้ บรรเลงด้วยหน้าทับลาวในอัตราจังหวะสองชั้นออกชั้นเดียวดัวยเพลงนกสีชมพูแบบสนุกตอนจบ ความยากในเพลงนี้คือ เพลงจะยาว มีจังหวะเหลื่อมผสมจังหวะที่ล้อกันในเพลงนี้





เพลงตับภุมริน (ระนาดเอก ซออู้)  

..............................................................................

เพลงลาวต้อยตริ่ง




           เพลงต้อยตริ่งเป็นเพลงอัตราจังหวะสองชั้น ทำนองเก่า หม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ นำไปแต่งแปลงทำนองใหม่ เพื่อใช้ประกอบการแสดงละครคณะหลวงนฤมิต เรียกชื่อว่า เพลงลาวเดินดง หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ลาวชมดง ต่อมา หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) นำไปแต่งขยายเป็นอัตราสามชั้น ใช้บรรเลงเป็นเพลงโหมโรง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ เรียกชื่อใหม่ว่า เพลงโหมโรงลาวใจใส  

ในส่วนของคมได้นำ เพลงลาวต้อยตริ่ง มาบรรเลงด้วยระนาดเอก โดยใช้เครื่องให้จังหวะ ใช้ในอัตราจังหวะสองชั้น บรรเลงด้วยหน้าทับลาว






  


เพลงลาวต้อยตริ่ง 2 ชั้น (ระนาดเอก)

..............................................................................


เพลงกระต่ายเต้น

           กระต่ายเต้นเป็นเพลงไทยสำเนียงมอญ ทำนองเพลงเก่าสมัยอยุธยา รวมอยู่ในเพลงชุดกระต่ายชมเดือน ซึ่งมี ๓ เพลง คือเพลงกระต่ายชมเดือน เพลงกระต่ายเต้น และเพลงกระต่ายกินน้ำค้าง ใช้ประกอบการแสดงละคร ต่อมาลิเกนำมาใช้ในการแสดงลิเก 

ในส่วนของคมได้นำ เพลงกระต่ายเต้น มาบรรเลงด้วยระนาดเอก ซออู้ ซึ่งไม่มีในปี่พาทย์มอญ เป็นการลองผสมเสียงของคมเองเพื่อให้เพลงสนุกยิ่งขึ้น ใช้เครื่องให้จังหวะที่ใกล้เคียงสำเนียงมอญ หากมีความผิดพลาดประการใด ต้องกราบขออภัย มา ณ ที่นี้ด้วย







เพลงกระต่ายเต้น (ระนาดเอก ซออู้)