22 กันยายน 2554

ประสบการณ์...วันเศร้า

นับเป็นครั้งแรกของคมที่ได้รับรู้ สัมผัสอารมณ์โศกเศร้าที่เกิดกับตัวเอง เมื่อเจอบรรยากาศการสูญเสียญาติสนิท นั่นคือ คุณตาของคมได้จากไปไม่มีวันกลับ




คมได้ไปร่วมพิธีศพของคุณตา ที่บ้านมหาโพธิ จ.นครสวรรค์ แม่บอกว่า “ตาเป็นคนชอบฟังเพลงระนาด” คมจึงควรเล่นเพลงระนาดไว้อาลัยให้ตาเป็นครั้งสุดท้าย ในงานพิธีฌาปนกิจของตา ซึ่งคมก็เห็นด้วย แต่ในครั้งนี้ คมลังเลใจที่พอจะจับความได้ว่า มีความรู้สึกขัดแย้งเกิดอยู่ในใจของคม ใจหนึ่ง สมควรต้องเล่นเพลงให้ตาอย่างไพเราะ ดีที่สุด  อีกใจหนึ่ง มันหดหู่ ไม่มีอารมณ์จะเล่นเลย  สองความรู้สึกนี้มันตรงข้ามกันอย่างแรง แม่บอกให้คมเข้มแข็งไว้ คิดเสียว่า นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้ช่วยงานตาแล้ว


เมื่อถึงช่วงใกล้เวลาแสดง คมเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่ใช้แสดง
อย่างแสนยาก งานนี้จัดให้คมขึ้นแสดงใช้เวลาราว 10-15 นาที ของวันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2554 ก่อนพิธีที่พระสงฆ์ขึ้นชักผ้าบังสุกุล ณ หน้าเมรุวัดมหาโพธิใต้  มีการประกาศให้คมผู้เป็นหลาน จะมาแสดงเดี่ยวระนาดเอกไว้อาลัยให้คุณตา ด้วยเพลงแรก “ชมมะลิลา” เป็นเพลงที่คมแต่งเอง และตาได้ฟังแล้วชอบ  เพลงที่สอง “ลาวดวงเดือน” ใช้เป็นเพลงอาลัยลาครั้งสุดท้าย







การแสดงของคมครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ใช้กลองไฟฟ้าให้จังหวะ นำมาประกอบการแสดงด้วย มันจะทำให้เพลงไพเราะขึ้นกว่าการเล่นระนาดอย่างเดียว แต่มันก็ใช้ยาก ต้องเล่นไปด้วยบังคับกลองไปด้วย ท่าแสดงไม่สวย ผู้ฟังจะสะดุด ถ้าจะให้ดีต้องมีคนช่วยที่รู้วิธีใช้กลอง รู้เพลง แต่คมไม่มี จึงต้องเล่นระนาดและกลองด้วยตัวคนเดียวเป็นข้อจำกัด และคอยบอกให้แม่ช่วยกดกลองเมื่อเพลงลงจบ

วีดีโอบางส่วนของเพลง "ชมมะลิลา"
 

วีดีโอบางส่วนของเพลง "ลาวดวงเดือน"

ผลที่เกิดความรู้สึกขัดแย้งในใจคม เพลงชมมะลิลา ที่คมซ้อมท่อนหัวมาเป็นอย่างดี เป็นลีลาเพลงที่ตาชอบ หายไปโดยไม่รู้ตัว  เกิดอาการน้ำท่วมตาที่ไม่ใช่เหงื่อในขณะบรรเลง และคมทำหน้าที่พาเพลงถึงฝั่งมาได้แบบ...ไม่มีใจจะบรรเลง...แต่มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ

05 กันยายน 2554

สิงหา...วันเกิด...วันแม่

เดือนของ...วันเกิด

ชีวิตหนึ่งเกิดมาได้ แสนยาก พ่อแม่ต้องลำบากเลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่ เพื่อให้ลูกหยัดยืน เป็นคนดีมีคุณภาพ ชีวิตของเรา...จึงมีคุณค่ากันทุกคน และคนทุกคนต่างก็มีจุดดีเด่นในตัวเอง จะต่างกันตรงที่ ใครจะค้นพบคุณค่านั้นแล้วหรือยัง จะได้นำคุณค่านั้นไปพัฒนายิ่งๆ ขึ้นให้เจริญรุ่งเรืองกันต่อไป

ภาพคม เขียนโดย พ่อ สี Oil Pastels

วันเกิดปีนี้คมมีของขวัญพิเศษจากพ่อของคม พ่อได้เขียนภาพเหมือนให้คมครับ นี่คือภาพของคมจากฝีมือของพ่อคมเอง

เดือนของ...วันแม่

แม้วันแม่จะผ่านมาแล้ว สำหรับคม แม่มีความพิเศษกับคมทุกวัน คมจึงอยากกล่าวถึงแม่ดังนี้



                     รักนี้มีให้ ... ด้วยใจบริสุทธิ์ ... แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ไม่มีวันจืดจาง ... แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ไม่มีวันหมด ...    แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ไม่มีวันทิ้งกัน ...  แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ไม่มีวันคิดร้าย ... แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ไม่มีเงื่อนไขใด ...แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ไม่มีขีดจำกัด ...   แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... จริงแท้แน่นอน ... แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ...  ตลอดเวลา ...     แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ตายแทนเราได้ ... แม่รักลูก
                                          ฯลฯ

แม่เป็นผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่สูงสุดในชีวิตของเราทุกคน บทเพลงที่เชิดชูเกียรติในพระคุณของแม่ที่มีให้กับลูกๆ ที่มีความหมายดี และมีอยู่แล้ว คือเพลง ค่าน้ำนม และเพลงอิ่มอุ่น  คมจะขอนำมาบรรเลงฝากให้คุณแม่ทุกท่าน และแม่ของคมด้วย ในแนวไทยเดิม ลองฟังดูนะครับ



ไพบูลย์ บุตรขัน ผู้แ่ต่งเพลงค่าน้ำนม
           เพลงค่าน้ำนม แต่งโดย คุณครูไพบูลย์ บุตรขัน นักแต่งเพลง และนักเขียนบทละคร ที่มีผลงานที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก จนได้รับการขนานนามให้เป็น "อัจฉริยะนักแต่งเพลงอันดับหนึ่งของไทย" ขับร้องและบันทึกเสียงครั้งแรกโดย ชาญ  เย็นแข เมื่อ พ.ศ. 2492 ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับไพบูลย์ บุตรขัน และชาญ เย็นแข มากที่สุด ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงที่เป็นรากฐานของเพลงลูกทุ่ง ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ กันยายน พ.ศ. 2532 
          เพลงค่าน้ำนม เป็นเพียง หนึ่งในเพลง จำนวน 5-6 เพลง ที่ไพบูลย์ บุตรขัน แต่งให้กับมารดา คือ นางพร้อม ประณีต (ครูไพบูลย์ มีนามสกุลเดิมว่า ประณีต) ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลครูไพบูลย์อย่างใกล้ชิดมาตลอด ตั้งแต่วัยหนุ่มจนท่านเสียชีวิตในวัย 70 กว่าปี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2508 ถึงแม้ครูไพบูลย์จะป่วยเป็น โรคเรื้อน ซึ่งได้รับความรังเกียจจากบุคคลทั่วไป (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

 
เพลงค่าน้ำนม (ระนาดเอก)


ศุ  บุญเลี้ยง ผู้แต่งเพลงอิ่มอุ่น
           เพลงอิ่มอุ่น แต่งโดย คุณจุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ศิลปินอิสระ ที่มาของเพลง ศุ บุญเลี้ยง แต่งเพลง "อิ่มอุ่น" ตามคำขอของ อาจารย์หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลศิริราชเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยหัวหน้าของพี่สาวของศุ ซึ่งเป็นพยาบาลได้ทำโครงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แล้วต้องการให้ศุแต่งเพลงนี้ขึ้น เพราะเห็นว่า ในการให้นมลูก แม่ต้องตระกองกอดแล้วช้อนตัวลูกขึ้นมาจึงไม่ได้ทำให้ "อิ่ม" อย่างเดียว แต่ว่า "อุ่น" ด้วย  
          ปัจจุบัน "อิ่มอุ่น" เป็นเพลงที่มีการเผยแพร่ตามท้องที่ต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงวันแม่แห่งชาติ (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี) 

                                                   เพลงอิ่มอุ่น (ซออู้)