27 พฤษภาคม 2556

เดี่ยวเพลงโหมโรง

โหมโรงเสภา

                           

              เพลงกังวาลเบิกหล้า               โอ่เสียงพามไกลใกล้
       สำเนียงบอกความใน                      มีงานเรื่มรู้รับกัน
              บทเพลงดังขับขาน                 ใช้กล่อมกาลในงานนั้น 
       เชิญเทพศักดิ์สิทธิ์พลัน                  ได้สถิตมีมงคล
              เสียงปลุกเร้าเอื้อนออด            ระทึกยอดเสนาะดล
       ฟังเคลิ้มคล้ายต้องมนต์                  ลุเพลงแรกคือ "โหมโรง"    


        เพลงโหมโรงมีหลากหลายประเภท เช่น โหมโรงพิธี โหมโรงละคร โหมโรงโขน โหมโรงเสภา โหมโรงมโหรี โหมโรงหนังใหญ่ ในแต่ละประเภทของเพลงโหมโรงจะมีกลุ่มเพลงมากมายใช้บรรเลงประกอบพิธีโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างกลุ่มเพลงของโหมโรงพิธี ได้มีการแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ โหมโรงเช้า โหมโรงเย็น และโหมโรงเทศน์

โหมโรงเช้า ใช้สำหรับการทำบุญเลี้ยงพระมี 5 เพลงคือ สาธุการ เหาะ รัว กลมและชำนาญ 
•โหมโรงเย็น ใช้ในพิธีที่นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์มี 13 เพลงคือสาธุการ ตระ รัวสามลา ต้นเข้าม่าน เข้าม่าน ปฐม ลา เสมอ รัว เชิด กลม ชำนาญและกราวใน(บางครั้งอาจมีรัวท้าย)
•โหมโรงเทศน์ ใช้ในพิธีการแสดงพระธรรมเทศนา มี 6 เพลงคือสาธุการ กราวใน เสมอ เชิด ชุบและลา เป็นต้น

     ในเพลงโหมโรงอื่นๆ ก็มีกลุ่มเพลงที่จะบรรเลงจำเพาะเช่นเดียวกัน



      การแสดงของคมในครั้งนี้ จะนำเพลงในกลุ่มโหมโรงเสภามาบรรเลงเดี่ยวเครื่องดนตรีระนาดเอกในเพลง โหมโรงไอยเรศ โหมโรงอัฐมบาท และเพลงโหมโรงปฐมดุสิตบรรเลงเดี่ยวซอด้วง 
        เพลงโหมโรงเสภา ใช้ประกอบการขับเสภาโดยบรรเลงสลับกับการขับเสภา โหมโรงชุดนี้มี 2 กลุ่มเพลงคือ 
        •รัวประลองเสภา ใช้เพื่ออุ่นเครื่องนักดนตรี ก่อนที่จะขับเสภาในลำดับต่อไป 
       •ตัวเพลงโหมโรงเสภา เป็นเพลงเดี่ยวๆ มาบรรเลงเป็นชุดสั้นๆ เช่น อัฐมบาท จุฬามณี แขกมอญ พม่าวัด ฯลฯ 
        ส่วนที่คมบรรเลงจะเป็นตัวเพลงโหมโรงเสภา เป็นเพลงเดี่ยวบรรเลงเป็นชุดสั้นดังนี้




            เพลงโหมโรงไอยเรศ ...ผู้แต่งคือนายช้อย สุนทรวาทิน แต่งจากเพลงไอยเรศชูงา ๒ ท่อน และไอยเรศชูวง ๒ ท่อน รวมกันซึ่งเป็นเพลงทำนองเก่าสมัยอยุธยา อยู่ในตับเรื่องฉิ่งโบราณมาขยายเป็นอัตราสามชั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕  เพื่อให้เป็นเพลงโหมโรงประจำวงปี่พาทย์ของพระยาจิรายุมนตรี (เนียม) เพลงนี้จัดว่าเป็นยอดของเพลงโหมโรงเสภาซึ่งนักดนตรีนิยมนำไปบรรเลงอย่างกว้างขวางทั้งวงปี่พาทย์ วงมโหรี และวงเครื่องสาย ใช้หน้าทับปรบไก่สามชั้น






       เพลงโหมโรงอัฐมบาท ...ดัดแปลงมาจากเพลงแปดบทสามชั้นของ คุณครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ลูกเล่นในเพลงคิดค้นโดยวงกอไผ่ มีลูกล้อเลียนเพลงต้นแบบหลายเพลงทั้งแปดบท-เขมรปี่แก้วทางสักวาและอื่นๆ ชื่อเพลงแปลจากแปดบทเป็น “อัฐม” เลขแปด บวกกับ “บาท” ซึ่งเป็นส่วนย่อยของบท ใช้หน้าทับปรบไก่สามชั้น กลองสองหน้า (เพลงนี้ไม่มีกลอง คมใส่จังหวะคนเดียวไม่ได้ ขออภัยที่เพลงไม่สมบูรณ์) 






            เพลงโหมโรงปฐมดุสิต ...เพลงนี้เดิมเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงในชุดโหมโรงเย็น และสำหรับใช้บรรเลงประกอบกิริยาของตัวละครที่จะออกไปจัดพล มีผู้แต่งไว้ 2 ทาง ทางหนึ่งเป็นของครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นทางที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย มีสำเนียงและทำนองเยือกเย็นไพเราะน่าฟัง และใช้เป็นเพลงโหมโรงเสภาและมโหรี จนถึงปัจจุบัน ใช้หน้าทับปรบไก่สามชั้น