27 พฤษภาคม 2556

เดี่ยวเพลงโหมโรง

โหมโรงเสภา

                           

              เพลงกังวาลเบิกหล้า               โอ่เสียงพามไกลใกล้
       สำเนียงบอกความใน                      มีงานเรื่มรู้รับกัน
              บทเพลงดังขับขาน                 ใช้กล่อมกาลในงานนั้น 
       เชิญเทพศักดิ์สิทธิ์พลัน                  ได้สถิตมีมงคล
              เสียงปลุกเร้าเอื้อนออด            ระทึกยอดเสนาะดล
       ฟังเคลิ้มคล้ายต้องมนต์                  ลุเพลงแรกคือ "โหมโรง"    


        เพลงโหมโรงมีหลากหลายประเภท เช่น โหมโรงพิธี โหมโรงละคร โหมโรงโขน โหมโรงเสภา โหมโรงมโหรี โหมโรงหนังใหญ่ ในแต่ละประเภทของเพลงโหมโรงจะมีกลุ่มเพลงมากมายใช้บรรเลงประกอบพิธีโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างกลุ่มเพลงของโหมโรงพิธี ได้มีการแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ โหมโรงเช้า โหมโรงเย็น และโหมโรงเทศน์

โหมโรงเช้า ใช้สำหรับการทำบุญเลี้ยงพระมี 5 เพลงคือ สาธุการ เหาะ รัว กลมและชำนาญ 
•โหมโรงเย็น ใช้ในพิธีที่นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์มี 13 เพลงคือสาธุการ ตระ รัวสามลา ต้นเข้าม่าน เข้าม่าน ปฐม ลา เสมอ รัว เชิด กลม ชำนาญและกราวใน(บางครั้งอาจมีรัวท้าย)
•โหมโรงเทศน์ ใช้ในพิธีการแสดงพระธรรมเทศนา มี 6 เพลงคือสาธุการ กราวใน เสมอ เชิด ชุบและลา เป็นต้น

     ในเพลงโหมโรงอื่นๆ ก็มีกลุ่มเพลงที่จะบรรเลงจำเพาะเช่นเดียวกัน



      การแสดงของคมในครั้งนี้ จะนำเพลงในกลุ่มโหมโรงเสภามาบรรเลงเดี่ยวเครื่องดนตรีระนาดเอกในเพลง โหมโรงไอยเรศ โหมโรงอัฐมบาท และเพลงโหมโรงปฐมดุสิตบรรเลงเดี่ยวซอด้วง 
        เพลงโหมโรงเสภา ใช้ประกอบการขับเสภาโดยบรรเลงสลับกับการขับเสภา โหมโรงชุดนี้มี 2 กลุ่มเพลงคือ 
        •รัวประลองเสภา ใช้เพื่ออุ่นเครื่องนักดนตรี ก่อนที่จะขับเสภาในลำดับต่อไป 
       •ตัวเพลงโหมโรงเสภา เป็นเพลงเดี่ยวๆ มาบรรเลงเป็นชุดสั้นๆ เช่น อัฐมบาท จุฬามณี แขกมอญ พม่าวัด ฯลฯ 
        ส่วนที่คมบรรเลงจะเป็นตัวเพลงโหมโรงเสภา เป็นเพลงเดี่ยวบรรเลงเป็นชุดสั้นดังนี้




            เพลงโหมโรงไอยเรศ ...ผู้แต่งคือนายช้อย สุนทรวาทิน แต่งจากเพลงไอยเรศชูงา ๒ ท่อน และไอยเรศชูวง ๒ ท่อน รวมกันซึ่งเป็นเพลงทำนองเก่าสมัยอยุธยา อยู่ในตับเรื่องฉิ่งโบราณมาขยายเป็นอัตราสามชั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕  เพื่อให้เป็นเพลงโหมโรงประจำวงปี่พาทย์ของพระยาจิรายุมนตรี (เนียม) เพลงนี้จัดว่าเป็นยอดของเพลงโหมโรงเสภาซึ่งนักดนตรีนิยมนำไปบรรเลงอย่างกว้างขวางทั้งวงปี่พาทย์ วงมโหรี และวงเครื่องสาย ใช้หน้าทับปรบไก่สามชั้น






       เพลงโหมโรงอัฐมบาท ...ดัดแปลงมาจากเพลงแปดบทสามชั้นของ คุณครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ลูกเล่นในเพลงคิดค้นโดยวงกอไผ่ มีลูกล้อเลียนเพลงต้นแบบหลายเพลงทั้งแปดบท-เขมรปี่แก้วทางสักวาและอื่นๆ ชื่อเพลงแปลจากแปดบทเป็น “อัฐม” เลขแปด บวกกับ “บาท” ซึ่งเป็นส่วนย่อยของบท ใช้หน้าทับปรบไก่สามชั้น กลองสองหน้า (เพลงนี้ไม่มีกลอง คมใส่จังหวะคนเดียวไม่ได้ ขออภัยที่เพลงไม่สมบูรณ์) 






            เพลงโหมโรงปฐมดุสิต ...เพลงนี้เดิมเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงในชุดโหมโรงเย็น และสำหรับใช้บรรเลงประกอบกิริยาของตัวละครที่จะออกไปจัดพล มีผู้แต่งไว้ 2 ทาง ทางหนึ่งเป็นของครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นทางที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย มีสำเนียงและทำนองเยือกเย็นไพเราะน่าฟัง และใช้เป็นเพลงโหมโรงเสภาและมโหรี จนถึงปัจจุบัน ใช้หน้าทับปรบไก่สามชั้น



  

21 มกราคม 2556

เพลงลาวหยดน้ำ

เพลงใหม่ "ลาวหยดน้ำ"


             เนื่องด้วยเดือนนี้เป็นวาระเริ่มต้นของปี พ.ศ. 2556 ... คมขออนุญาตกล่าว “สวัสดีปีใหม่” กับทุก ๆ ท่านที่ได้ให้ความสนใจ ได้อ่าน ได้ติดตามเรื่องราวของคมมาตลอดซึ่งจะเป็นกำลังใจในการสร้างผลงานของคมเป็นอย่างดี ขอให้ทุกท่านมีความสุขความเจริญยิ่ง ๆขึ้นไปด้วยนะครับ

             กิจกรรมของคมในครั้งนี้ได้ลองทำเพลงที่ใช้ขลุ่ยเป็นเสียงนำ  เนื่องจากเจ้าขลุ่ยวางอยู่ใกล้ตัวเสมอ ขลุ่ยของคมเป็นขลุ่ยธรรมดาราคาไร้ละดับ แต่เป็นเพื่อนแท้ที่ไปไหนก็คว้าไปด้วยในเวลาที่อยากเล่นดนตรีนอกบ้าน จัดเป็นเครื่องดนตรีที่พกพาบ่อยที่สุด ทุกท่านคงเข้าใจ เพราะเจ้าขลุ่ยเขาตัวเล็ก เบา ใช้เป็นท่อนไม้ป้องกันตัวได้ ไม่เกะกะ แต่ให้ความรู้สึกอุ่นใจที่มีเครื่องดนตรีติดตัวมาด้วยซึ่งไว้ใช้ตอนอยากทบทวนเพลง และทดลองเสียงโน้ตในเพลงที่สนใจได้เลย


            นอกจากนี้ ขลุ่ยยังเป็นเครื่องดนตรีที่มีมาแต่โบราณ นิยมใช้เป่าเพื่อความบันเทิงใจเป็นการส่วนตัว ต่อมาจึงใช้ร่วมกับวงเครื่องสาย วงมโหรี และวงปี่พาทย์ ขลุ่ยนิยมบรรเลงกันทุกจังหวัดในภาคกลาง โอกาสที่ใช้บรรเลง งานมงคล งานเทศกาลต่างๆ และความบันเทิงเฉพาะตัว หลายคนคงได้ฟังเพลงขลุ่ยอันแสนไพเราะจากเพลงที่มีอยู่แล้วมากมาย เพลงของคมไม่อาจเทียบผลงานเหล่านั้น เพียงคมจะลองทำเพลงที่เน้นเสียงขลุ่ยเป็นเสียงนำแบบของคมดู คิดให้เป็นสิ่งใหม่ได้ลองทำ  เพลงนี้ใช้ชื่อว่า “ลาวหยดน้ำ” เนื่องจากใช้หน้าทับลาวในอัตราจังหวะสองชั้น มีซออู้เป็นเครื่องล้อตาม ลองมาฟังเพลงกันดูนะครับ




                          ยดน้ำเกาะฝอย          ต้นใบหยาดย้อย
                    ดุจดั่งเพชรพลอย               สะท้อนเจิดจ้า
                    ประดับไพรสณฑ์                แผ่กว้างสุดตา
                    ส่งจากฟากฟ้า                   ให้ดินชุ่มเย็น
     
                         สรรค์พลังให้                กำเนิดชีพได้
                    เลี้ยงพงไพรไว้                  อยู่คู่โลกา
                    แม้จิตคนคล้อย                  พาให้ใฝ่หา
                    กวีภาษา                           หลั่งมาเชยชม

                         ยดน้ำอ่อนไหว            ฉ่ำเย็นเห็นได้
                    ตราตรึงในใจ                     ช่วยให้สดชื่น
                    ระลึกเป็นเสียง                   สำเนียงเพลงยื่น
                    อารมณ์เป็นคลื่น                 ชักพาเป็นเพลง







เพลงลาวหยดน้ำ (ขลุ่ย-ซออู้)

.......................................................................................................

ภาพกิจกรรมวันเด็กปี 2556 ของคม

           งานวันเด็ก ปี 2556 เป็นงานที่จัดขึ้นในหมู่บ้านเล็ก ๆที่คมอาศัยอยู่ เนื่องจากมีการจัดตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการปีแรก จึงได้จัดงานวันเด็กอย่างเป็นทางการปีแรกด้วยเช่นกัน มีพิธีเปิดงานและการแสดงของคมเริ่มแสดงชุดแรก คมได้บรรเลงเดี่ยวระนาดเอกในเพลง โหมโรงจีนตอกไม้ ลาวต้อยตริ่ง ค้างคาวกินกล้วย และเดี่ยวลาวแพน เป็นเพลงสุดท้าย ขอขอบพระคุณทางหมู่บ้านที่เห็นความสำคัญของดนตรีไทยที่คมเล่น และเป็นเกียรติที่ได้มีส่วนร่วมในการเปิดงานวันเด็กปีนี้