22 พฤศจิกายน 2553

ครวญเพลงพญาสี่เสา

ร่วมกิจกรรมโรงเรียนดนตรี (SPN)

เนื่องในวาระวันพ่อแห่งชาติ ทางโรงเรียนสยามพัฒนา (SPN) ได้จัดวงมโหรีบรรเลงเพลงพญาสี่เสาออกเพลงกล่อมพญา ร่วมเทิดพระเกียรติและถวายพระพรแด่องค์พ่อหลวงของไทย แสดง ณ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 (สทท.) ทางสถานีได้จัดให้มีการบันทึกการแสดงล่วงหน้าเมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2553 และออกอากาศช่วงวันเฉลิมพระชนฯ ในเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งยังไม่ทราบวันเวลาที่แน่นอน จะขอแจ้งในโอกาสต่อไป

(ออกอากาศ วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553 เวลา 11.30-12.00 น.)


ในส่วนของคมนั้น อาจารย์ได้มีการถามเด็กก่อนว่า สะดวกจะไปแสดงงานนี้ไหม คมตอบว่าไม่ไป เพราะไม่ชอบงานที่ตรงกับวันเรียนถ้าเป็นวันหยุดคมจะเต็มที่ เมื่อคมปฏิเสธ อาจารย์ก็เปลี่ยนมือระนาดเอกเป็นรุ่นพี่อีกคนแทน ส่วนคมยังได้ร่วมเรียนเพลงที่จะไปแสดงด้วย แต่ไปฝึกเล่นฆ้องวงใหญ่ เมื่อถึงช่วงซ้อมรวมวง แปลกใจทำไมมีคนขาดหายไปเยอะ (มารู้ทีหลังว่าพี่ๆ เขาไปเข้าค่ายกิจกรรมของแต่ละโรงเรียน) คมจึงตัดสินใจใหม่ว่าควรจะไปงานนี้ และบอกอาจารย์ว่าจะไปเล่นฆ้องวงใหญ่ เมื่อซ้อมวงร่วมกันมาครึ่งทาง ปรากฏว่า พี่คนที่เล่นระนาดเอกเกิดไม่มั่นใจขอเปลี่ยนไปตีระนาดทุ้มตามเดิม ตำแหน่งระนาดเอกก็ว่างลง และอาจารย์ได้ขึ้นไปตีแทน จนจบการซ้อมของวันอาทิตย์ และวันศุกร์ที่จะถึงจะเป็นวันแสดงจริง


กลับจากเรียนดนตรีจนถึงวันจันทร์เป็นช่วงที่คุยกันในบ้านว่า คมควรจะกลับมาเล่นระนาดเอกซึ่งเป็นเครื่องเอกของตัวเอง ดีกว่ามั๊ย และอาจารย์ก็บอกให้คมเตรียมไปตีระนาดเอกด้วย ส่วนคมก็มีเหตุผลส่วนตัวของเขาคือ งานนี้คมถูกฝึกมาทางฆ้อง คมก็มั่นใจแต่ทางฆ้อง ทางระนาดเอกไม่ได้ต่อเพลงโดยตรงก็ไม่มั่นใจ จะไปเล่นได้อย่างไงเดี๋ยวงานเขาพัง เลยสรุปหาข้อยุติกันตรงที่ ให้คมลองเอาทางฆ้องมาแตกเป็นทางระนาดเอกเอง ทำให้เต็มที่ก่อน ได้ไม่ได้ค่อยว่ากัน กลับจากเรียนของวันอังคาร คมจะซ้อมเพลงที่บ้าน เริ่มได้ยินเพลงพญาสี่เสาแบบมั่วๆ แล้วก็บ่นว่าไม่ไหวแล้ว แม่ก็ให้กำลังใจคุยกับเขาว่า ได้แค่นี้ก็หรูแล้ว เพราะเราคิดทางเพลงเอง และแม่มีตัวช่วยที่ดีถ้าคมยอมรับสิ่งนี้ นั่นคือเสียงบันทึกเพลงในห้องเรียนช่วงอาจารย์เป็นคนเล่นระนาดเอก ซึ่งตอนแรกให้ไปฟังเขาไม่สนใจเลย คิดจะเล่นแต่ฆ้องวงใหญ่อย่างเดียว


วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2553 มาถึงแล้ว ช่วงเช้ามาวัดดวงก่อนออกสนามจริง คมตั้งใจจะมาเล่นระนาดเอกให้อาจารย์ดูก่อนตามลำพัง ปรากฏว่าห้องซ้อมมีผู้ร่วมวงจำนวนมากจาก SPN สาขาใหญ่มาครบคนแล้ว ขาดกลุ่มตีขิมอย่างเดียว คาดไม่ถึงว่าเขาจะมาเร็ว คมเลยต้องตีระนาดเอกไปเลย อาจารย์ค่อยมาดูแล้วปรับการเล่นไปพร้อมๆ คนอื่น ได้เริ่มซ้อมวงตอน 8.30 น. 10.00 น. ออกเดินทาง และ 11.00 น.ต้องเข้าบันทึกเทปการแสดง เพลงพญาสี่เสาออกเพลงกล่อมพญาของคมพึ่งได้เริ่มต้นอย่างจริงจัง ส่วนคนอื่นๆ เขามาทบทวนเพลงกัน โอละหนอ...ชะตาชีวิต...งานนี้จะรอดไหม

วีดีโอ ถ่ายภาพจากทีวี สทท. (11) ขณะออกอากาศ


วีดีโอ บันทึกการแสดง
ในห้องส่งของสถานี (บทเพลงเดียวกัน) ขณอัดเทป

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ตี
ฆ้องวงใหญ่...ครั้งแรก

วันนั้นคือวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2553 เป็นวันเรียนดนตรีช่วงหยุดปิดเทอมของภาคเรียนที่ 1 วันสุดท้าย และได้พูดคุยกับอาจารย์สุวิทย์ ซึ่งปิดเทอมนี้อาจารย์ยุ่งมากไม่ค่อยได้เจอกัน
อาจารย์ จะถามเธอหลายวันแล้วว่าวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2553 ว่างไหมจะชวนไปเล่นดนตรีกับโรงเรียนสยามสามไตรในงานทอดกฐินที่วัดอุดมธรรม
คมตอบ วันเสาร์คมไปได้อยู่แล้ว จะให้คมไปเล่นอะไรครับ
อาจารย์ จะให้คมไปช่วยเล่นฆ้องวงใหญ่ให้หน่อย ขาดคนตีฆ้อง
คมก็ร้อง "ผมเนี่ยน๊ะ จะไปเล่นฆ้อง แทบไม่เคยตีฆ้องมาก่อนเลย จะชวนไปแสดงวันพรุ่งนี้เช้า โอ๊ะ...จะเป็นไปได้หรือ...ตั้งตัวอย่างไรดี"
อาจารย์ เธอต่อเพลงโหมโรงมหาราชจบแลัวไม่ใช่หรือ
คมตอบ ผมต่อจบทางซอด้วงครับ
อาจารย์ เดี๋ยวให้อาจารย์แบงค์ปรับเป็นทางฆ้องให้ ส่วนเพลงอื่นๆ เธอก็เล่นได้อยู่แล้ว”

แล้วคมก็ฝึกฆ้องวงใหญ่ในเพลงโหมโรงมหาราช ภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
เดี๋ยวอาจารย์จะไม่ว่างแล้ว


และนี่คือบรรยากาศที่คมไปแสดงมา ที่...

วัดอุดมธรรม โปษะกฤษณะวราราม เขตทวีวัฒนา กทม.