24 ธันวาคม 2553

การประกวดเซ็ทเทรดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ของคม

แข่งระดับประเทศหรือแข่งเอาตัวให้รอด

...คม...เลือกเรียนดนตรีด้วยความชอบ มีความสุขกับเสียงเพลงที่ได้บรรเลง ในเส้นทางสายนี้ใช่จะมีแต่สิ่งที่ชอบ แต่ยังมีเรื่องราวให้ขยาด เหนื่อย ฝืน...ควบคู่กันไปด้วย ประสบการณ์ที่คมได้เจอครั้งนี้...ถ้าถือเป็นเรื่องที่ชอบจัดเป็นเรื่องปกติธรรมดาได้ก็นับว่าเป็นคนเข้มแข็ง แต่ถ้าเราคิดตรงข้ามคือไม่ชอบก็คงจัดเป็นเด็กที่อ่อนแอไร้อนาคต แต่คมก็ผ่านมันมาแล้วในองค์ประกอบที่ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก โดยที่ไม่อยากให้เป็นแบบนี้

เมื่อราวกลางปี 2553 นี้ คมได้เรียนเพลงเดี่ยวนกขมิ้น ซึ่งเป็นเพลงเดี่ยวเครื่องดนตรีเบื้องต้นของขั้นสูงที่ต้องใช้เทคนิคทางเชิงระนาดเอกเยอะกว่าเพลงอื่นๆ ที่คมเคยเรียน ครูบอกว่าเป็นเพลงที่จะเอาไปใช้แข่งเซ็ทเทรดปลายปีนี้ คมได้เพลงนี้มาไม่ทันจะแม่นเลย ครูผู้สอนติดธุระงานยุ่งจนมาสอนไม่ได้ คมรอ...ให้ครูกลับมาสอนนานเป็นเดือนๆ แต่ครูก็ไม่กลับมา ต่อมาคมได้ครูใหม่คนที่สอง เขาสอนเพลงอื่นๆ ไม่เกี่ยวกับเพลงแข่งของคมเลย 

ทิ้งช่วงไปราว 3 เดือนกว่า คมพบคุณครูท่านเดิมที่คมรออยู่อีกครั้ง คือวันบันทึกเสียงส่งเพลงเข้าประกวดวันสุดท้าย ในวันเดียวนี้ คมต้องซ้อมเพลงให้ดีที่สุด จากเพลงที่ไม่ค่อยแม่นเรื่องจังหวะ ลูกรัวไม่ชัด กำลังไม่คงที่ ทำไม่ได้ไม่ถูกก็ทำใหม่ แรงก็หมดไปเรื่อยๆ แต่ต้องฝืนเค้นกำลังออกมา เที่ยวแล้วเที่ยวเล่า กว่าจะอัดเสียงผ่านรอบที่ดีที่สุด หมดเวลาแบบฉิวเฉียว ต้องนำเอกสารใบสมัคร ซีดีเพลงที่อัดจัดส่งไปรษณีย์ด่วน การถูกเคี่ยวให้ได้ผลงานที่ดีภายในวันเดียว นับเป็นช่วงเวลาที่หินมากสำหรับคม อย่าได้ถามหารอยยิ้มบนใบหน้าคมเลย 

วีดีโอนี้ถือเป็นรอบที่ดีที่สุด ที่คมทำได้
 

เมื่อถึงวันประกาศผล คมมีรายชื่อ 1 ใน 25 คน ติดเข้ารอบรองชนะเลิศของระดับประถมศึกษาโดยไม่ได้คาดหวัง แต่เขากลับไม่ดีใจหรือมีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น เพราะรู้ตัวว่าจะมีสิ่งที่ไม่อยากทำรออยู่ ถ้านับวันที่เรียนดนตรีก่อนแข่ง เหลืออยู่ 6 ครั้ง คมเรียนเฉพาะวันอาทิตย์กับครูคนที่สอง เรียนแบบเดิม เพิ่มการดูเพลงแข่งให้คมมากขึ้น หมดไป 4 อาทิตย์ เขาก็ออกไปอีกคน เปลี่ยนครูอีก (ช่างอาภัพครูเสียจริง) 

คมได้ครูใหม่คนที่สาม เหลืออีก 2 อาทิตย์จะแข่งแล้ว ครูคนนี้ได้ปรับและสอนเทคนิคเชิงระนาดที่คมยังไม่รู้ได้มากทีเดียว ช่วยให้คมมีกำลังใจมากขึ้น แต่คมก็มีเรื่องให้หนักใจ นั่นคือ ผืนระนาดที่จะใช้แข่ง เป็นผืนใหม่ที่ลงทุนซื้อมาเพื่อใช้แข่งโดยเฉพาะ แต่ตะกั่วหลุดไม่เลิกทำให้ไม่มั่นใจในวันแข่ง จนครูคนใหม่ต้องพกผืนระนาดส่วนตัวไปเผื่อในวันที่แข่ง และได้ใช้ผืนของครูขึ้นเวที แต่ต้องเสี่ยงกับลายไม้ของผืนระนาดที่ไม่คุ้น ซึ่งจะทำให้จำโน้ตเพลงผิดหรือเสียงเพี้ยนได้ในนาทีสำคัญเช่นนี้



ช่วงเวลาบนเวทีแข่งขันเมื่อวันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม 2553 ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เหมือนแข่งกับตัวเอง คือทำตัวให้รอดพ้นข้อผิดพลาด และทำให้เหมือนตอนซ้อมในรอบที่สมบรูณ์ที่สุด เมื่อคมทำได้เต็มที่แล้วก็ไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจ กับโล่งใจด้วยซ้ำ การแข่งขันบนเวทีนี้มีการแสดงที่หลากหลาย แต่ละคนแต่ละประเภทเขาตัดสินรวมกันหมด คมหมดภาระกิจการแข่งขันที่รอบนี้... แต่คมยังไม่หมดภาระกิจในวันนี้




คมต้องไปสอบเลื่อนขั้นทางดนตรี (ระนาดเอก) ที่ SPN Music School ตอนสี่โมงเย็น ระหว่างเดินทางไปสอบ คมเริ่มมีอาการไม่สบาย ปวดศรีษะ คลื่นไส้ แน่นท้องตั้งแต่อยู่ในรถ พอถึงอาคารที่สอบ คมต้องเข้าๆ ออกๆ ห้องน้ำหลายรอบไม่หยุดเลย ปรากฎว่าหมดแรงเสียแล้ว พอถึงคิวสอบเขาก็เข้าสอบ พยามตีระนาดเต็มที่เท่าที่แรงยังเหลืออยู่ และเขาก็สอบผ่านการทดสอบมาได้แบบไม่เต็มฝีมือ

22 พฤศจิกายน 2553

ครวญเพลงพญาสี่เสา

ร่วมกิจกรรมโรงเรียนดนตรี (SPN)

เนื่องในวาระวันพ่อแห่งชาติ ทางโรงเรียนสยามพัฒนา (SPN) ได้จัดวงมโหรีบรรเลงเพลงพญาสี่เสาออกเพลงกล่อมพญา ร่วมเทิดพระเกียรติและถวายพระพรแด่องค์พ่อหลวงของไทย แสดง ณ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 (สทท.) ทางสถานีได้จัดให้มีการบันทึกการแสดงล่วงหน้าเมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2553 และออกอากาศช่วงวันเฉลิมพระชนฯ ในเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งยังไม่ทราบวันเวลาที่แน่นอน จะขอแจ้งในโอกาสต่อไป

(ออกอากาศ วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553 เวลา 11.30-12.00 น.)


ในส่วนของคมนั้น อาจารย์ได้มีการถามเด็กก่อนว่า สะดวกจะไปแสดงงานนี้ไหม คมตอบว่าไม่ไป เพราะไม่ชอบงานที่ตรงกับวันเรียนถ้าเป็นวันหยุดคมจะเต็มที่ เมื่อคมปฏิเสธ อาจารย์ก็เปลี่ยนมือระนาดเอกเป็นรุ่นพี่อีกคนแทน ส่วนคมยังได้ร่วมเรียนเพลงที่จะไปแสดงด้วย แต่ไปฝึกเล่นฆ้องวงใหญ่ เมื่อถึงช่วงซ้อมรวมวง แปลกใจทำไมมีคนขาดหายไปเยอะ (มารู้ทีหลังว่าพี่ๆ เขาไปเข้าค่ายกิจกรรมของแต่ละโรงเรียน) คมจึงตัดสินใจใหม่ว่าควรจะไปงานนี้ และบอกอาจารย์ว่าจะไปเล่นฆ้องวงใหญ่ เมื่อซ้อมวงร่วมกันมาครึ่งทาง ปรากฏว่า พี่คนที่เล่นระนาดเอกเกิดไม่มั่นใจขอเปลี่ยนไปตีระนาดทุ้มตามเดิม ตำแหน่งระนาดเอกก็ว่างลง และอาจารย์ได้ขึ้นไปตีแทน จนจบการซ้อมของวันอาทิตย์ และวันศุกร์ที่จะถึงจะเป็นวันแสดงจริง


กลับจากเรียนดนตรีจนถึงวันจันทร์เป็นช่วงที่คุยกันในบ้านว่า คมควรจะกลับมาเล่นระนาดเอกซึ่งเป็นเครื่องเอกของตัวเอง ดีกว่ามั๊ย และอาจารย์ก็บอกให้คมเตรียมไปตีระนาดเอกด้วย ส่วนคมก็มีเหตุผลส่วนตัวของเขาคือ งานนี้คมถูกฝึกมาทางฆ้อง คมก็มั่นใจแต่ทางฆ้อง ทางระนาดเอกไม่ได้ต่อเพลงโดยตรงก็ไม่มั่นใจ จะไปเล่นได้อย่างไงเดี๋ยวงานเขาพัง เลยสรุปหาข้อยุติกันตรงที่ ให้คมลองเอาทางฆ้องมาแตกเป็นทางระนาดเอกเอง ทำให้เต็มที่ก่อน ได้ไม่ได้ค่อยว่ากัน กลับจากเรียนของวันอังคาร คมจะซ้อมเพลงที่บ้าน เริ่มได้ยินเพลงพญาสี่เสาแบบมั่วๆ แล้วก็บ่นว่าไม่ไหวแล้ว แม่ก็ให้กำลังใจคุยกับเขาว่า ได้แค่นี้ก็หรูแล้ว เพราะเราคิดทางเพลงเอง และแม่มีตัวช่วยที่ดีถ้าคมยอมรับสิ่งนี้ นั่นคือเสียงบันทึกเพลงในห้องเรียนช่วงอาจารย์เป็นคนเล่นระนาดเอก ซึ่งตอนแรกให้ไปฟังเขาไม่สนใจเลย คิดจะเล่นแต่ฆ้องวงใหญ่อย่างเดียว


วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2553 มาถึงแล้ว ช่วงเช้ามาวัดดวงก่อนออกสนามจริง คมตั้งใจจะมาเล่นระนาดเอกให้อาจารย์ดูก่อนตามลำพัง ปรากฏว่าห้องซ้อมมีผู้ร่วมวงจำนวนมากจาก SPN สาขาใหญ่มาครบคนแล้ว ขาดกลุ่มตีขิมอย่างเดียว คาดไม่ถึงว่าเขาจะมาเร็ว คมเลยต้องตีระนาดเอกไปเลย อาจารย์ค่อยมาดูแล้วปรับการเล่นไปพร้อมๆ คนอื่น ได้เริ่มซ้อมวงตอน 8.30 น. 10.00 น. ออกเดินทาง และ 11.00 น.ต้องเข้าบันทึกเทปการแสดง เพลงพญาสี่เสาออกเพลงกล่อมพญาของคมพึ่งได้เริ่มต้นอย่างจริงจัง ส่วนคนอื่นๆ เขามาทบทวนเพลงกัน โอละหนอ...ชะตาชีวิต...งานนี้จะรอดไหม

วีดีโอ ถ่ายภาพจากทีวี สทท. (11) ขณะออกอากาศ


วีดีโอ บันทึกการแสดง
ในห้องส่งของสถานี (บทเพลงเดียวกัน) ขณอัดเทป

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


ตี
ฆ้องวงใหญ่...ครั้งแรก

วันนั้นคือวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2553 เป็นวันเรียนดนตรีช่วงหยุดปิดเทอมของภาคเรียนที่ 1 วันสุดท้าย และได้พูดคุยกับอาจารย์สุวิทย์ ซึ่งปิดเทอมนี้อาจารย์ยุ่งมากไม่ค่อยได้เจอกัน
อาจารย์ จะถามเธอหลายวันแล้วว่าวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2553 ว่างไหมจะชวนไปเล่นดนตรีกับโรงเรียนสยามสามไตรในงานทอดกฐินที่วัดอุดมธรรม
คมตอบ วันเสาร์คมไปได้อยู่แล้ว จะให้คมไปเล่นอะไรครับ
อาจารย์ จะให้คมไปช่วยเล่นฆ้องวงใหญ่ให้หน่อย ขาดคนตีฆ้อง
คมก็ร้อง "ผมเนี่ยน๊ะ จะไปเล่นฆ้อง แทบไม่เคยตีฆ้องมาก่อนเลย จะชวนไปแสดงวันพรุ่งนี้เช้า โอ๊ะ...จะเป็นไปได้หรือ...ตั้งตัวอย่างไรดี"
อาจารย์ เธอต่อเพลงโหมโรงมหาราชจบแลัวไม่ใช่หรือ
คมตอบ ผมต่อจบทางซอด้วงครับ
อาจารย์ เดี๋ยวให้อาจารย์แบงค์ปรับเป็นทางฆ้องให้ ส่วนเพลงอื่นๆ เธอก็เล่นได้อยู่แล้ว”

แล้วคมก็ฝึกฆ้องวงใหญ่ในเพลงโหมโรงมหาราช ภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
เดี๋ยวอาจารย์จะไม่ว่างแล้ว


และนี่คือบรรยากาศที่คมไปแสดงมา ที่...

วัดอุดมธรรม โปษะกฤษณะวราราม เขตทวีวัฒนา กทม.


16 ตุลาคม 2553

เดี่ยวดนตรีไทยกับงานปั้นดิน

อีกครั้งกับประสบการณ์...นอกโรงเรียนดนตรี

งานนี้จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม 2010 ที่ ร.พ.มนารมย์ บางนา ในกิจกรรมส่งเสริมศิลปะเด็ก และวัฒนธรรมไทย และมีการบรรยายหัวข้อ "เด็กสมาธิสั้น" คมได้มีโอกาสร่วมแสดงดนตรีไทยสืบสานวัฒนธรรมไทยให้ผู้รอ...รับฟังการบรรยายหัวข้อดังกล่าวและเด็กๆ ที่เข้าร่วมประกวดงานศิลปะที่มารับรางวัลให้ได้ชมได้ฟัง

โดยส่วนตัวของคม งานนี้ถือว่ามีผู้สนใจชมการบรรเลงดนตรีของคมมากที่สุด และถือเป็นการแสดงที่ยาวที่สุด เล่นเดี่่ยวคนเดียวต่อเนื่อง ช่วงแรก ราว 1 ชั่วโมง ช่วง 2 อีกเกือบชั่วโมง และคมใช้เครื่องดนตรีไทย 4 ชนิด คือ ระนาดเอก ซออู้ ซอด้วง และขลุ่ย คมมีการแสดงแนวใหม่สำหรับตัวเอง คือ การเล่นซออู้ Mix backing track กีต้าลายไทย 6 เพลง แต่ระบบเสียงเบามาก ทำให้เพลงขาดความน่าสนใจ ก่อนหน้าที่จะมาแสดงที่นี้ เขาเตรียมตัวที่จะแสดง ใน 2-3 ชั่วโมง สลับเวลาพัก เล่นจริงยาวต่อเนื่อง สิ่งที่ได้เห็น ผู้ชมจะตื่นตัวสนใจกัับเสียงระนาดมากที่สุด ระนาดเอกเหมาะจะเล่นในที่โล่งนี้ คมเองจะตีระนาดเต็มเวลาก็ไม่ไหว เพราะใช้กำลังเยอะ ช่วงเล่นซอ ถือว่าได้ผ่อนแรงจากระนาด เก็บแรงไว้เล่น ช่วง 2 ...ภาพโดยรวมของคมครั้งนี้ก็ สุด ๆ แล้ว จึงขอขอบคุณสถานที่ ที่ให้โอกาสแสดงความสามารถเต็มที่ในฐานะเด็กคนหนึ่งไม่ใช่มืออาชีพ ถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้คมได้เกิดผลงานในครั้งนี้

ในช่วงที่ 2 ได้เชิญพี่กานต์ ด.ช.จินตการ ชาญชิต สุดยอดนักปั้นดินโพลีเมอร์มาร่วมโชว์ทักษะการปั้นให้ชม ซึ่งพี่กานต์และคมได้เคยแสดงร่วมกันที่หอศิลป์ กทม. มาครั้งหนึ่งแล้ว และครั้งที่แล้วใช้ชื่องาน เดี่ยวระนาดเอกกับงานปั้นดิน นับเป็น ครั้งที่๑ ตอนนั้นคมเล่นเป็นแต่ระนาดเอก แต่ตอนนี้เล่นเป็นหลายอย่าง เมื่อเราสองคนได้แสดงร่วมกันอีกครั้ง...จึงตั้งชื่อเป็น...

เดี่ยวดนตรีไทยกับงานปั้นดิน ครั้งที่ ๒

ผลจากการที่คมแสดงเดี่ยว เปิดงานด้วยเสียงระนาดเอก ประมาณ 5 เพลงก็ได้เหงื่อแล้วจากชุดไทยที่หนา (เสื้อ 2 ชั้น) กับอากาศที่ร้อน และออกแรงเต็มกำลัง เหงื่อมันไหลเต็มหน้าเข้าตาด้วย แต่ก็ต้องทนทั้งที่มันคันและแสบตา ถ้าหยุดตีระนาดแล้วมาปาดเหงื่อคนฟังก็จะสดุด เสียความไพเราะไป คมต้องอดทนเหมือนปกติจนครบการแสดงช่วงแรก ช่วงที่ 2 เขาเอาพัดลมมาตั้งให้แล้ว เหงื่อก็ยังตกอยู่ดี และที่นี่คมได้รับการติดต่อสัมภาษณ์จากนักข่าว Manager online












วีดีโอ บรรเลงระนาดเอกเพลง "ลาวดวงดอกไม้ ออกซุ้มลาวแพน"
เพลงนี้คมสนใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟังจากชุด ระนาดบางกอก ของขุนอินชุดที่ 2 แต่เพลงมีแค่ท่อน 1 กับท่อน 3 และคมก็แกะออกมาได้แล้ว แต่ไม่ครบเพลง คมจึงขอครูต่อเพลงเพิ่มมาอีก 2 ท่อน ครบ 4 ท่อนแล้วแต่เพลงจะสมบรูณ์ต้องออกซุ้มช่วงจบเพลงด้วย และซุ้มที่สนุก ก็คือ ซุ้มลาวแพน ผมประยุกต์มาเองครับ



วีดีโอ บรรเลงซอด้วงเพลง "ลาวกระทบไม้" และเป่าขลุ่ยในเพลง "ยวนเคล้า"

วีดีโอ บรรเลงซออู้เพลง "นกเขาขะแมร์" Mix backing track
-

14 ตุลาคม 2553

บทสัมภาษณ์ และ VDO in Youtube

บทสัมภาษณ์จาก Manager online และวีดีโอผลงาน ลิงค์จาก Youtube 

 

 
"ขอขอบพระคุณทุก ๆ สื่อ ที่ส่งเสริมและเผยแพร่...กิจกรรมของคมครับ"





09 กันยายน 2553

ลีลา...วงปี่พาทย์

บรรเลงวงปี่พาทย์ ลีลา ๑

กิจกรรมการแสดงดนตรีกับวงปี่พาทย์ ของ ร.ร.ดนตรีเบญจรงค์ สาขาใหม่ (SPN) ที่ห้าง PARADISE (ห้างเสรีเซ็นเตอร์เก่า) ถนนศรีนครินทร์ กทม. แสดงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 และ 29 สิงหาคม 2553 ทางร.ร.ดนตรีฯ ได้จัดวงปี่พาทย์ขนาดเล็กขึ้น เพื่อหาประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนให้มีความคล่องตัวสูง

คมเล่นตำแหน่งระนาดเอก รุ่นพี่ 2 คนเล่นระนาดทุ้มคนหนึ่ง เล่นฆ้องวงใหญ่คนหนึ่งและเพิ่มพี่คนที่ 3 มาเป่าขลุ่ยร่วมในวันหลังสุดอีกคน มีอาจารย์ร่วมเล่นซออู้ และเครื่องให้จังหวะ ก่อนแสดงไม่ได้มีการซ้อมล่วงหน้า เพียงร่างชื่อเพลงที่จะเล่นเอาไว้เมื่อถึงสถานที่แสดง ก็บรรเลงกันเลย เริ่มโดยอาจารย์ได้นำรายชื่อเพลงที่คมเขียนไว้คัดเลือกขึ้นมาเล่นไปเรื่อยๆ ใช้เวลาแสดงราวชั่วโมงเศษ



VIDEO เพลง "โหมโรงไอยเรศ" ความยาว เกือบ 7 นาที SIZE 17.6 MB






VIDEO เพลง "โหมโรงจีนตอกไม้" (ช่วงท้ายเพลงอาจเสียงเพี้ยน เนื่องจากตะกั่วหลุด)




บรรเลงวงปี่พาทย์ ลีลา ๒


กิจกรรมการแสดงดนตรีกับวงปี่พาทย์ของร.ร.ดนตรีเบญจรงค์ คมได้รับหมอบหมายจากอาจารย์ให้เป็นต้นเรื่องจัดการในงานครั้งนี้ คืองานบรรเลงวงปี่พาทย์ในงานศพของแม่พี่บัญชา (นายบัญชา ทิวาลัย) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทต่างวัยของคม อายุห่างกัน 30 กว่าปี เราเป็นเพื่อนร่วมกลุ่มเรียนดนตรีไทยด้วยกัน ในฐานะมือระนาดเอกนำวงอาจารย์ให้สิทธิเป็นผู้เตรียมเพลง (พี่ภูมิ...หัวหน้าวงป่วย)

งานจัดขึ้นช่วงเย็นในวันที่ 4 ตุลาคม 2553 ที่วัดพระศรีมหาธาตุ หลักสี่ ใช้เวลาแสดงราวชั่วโมงครึ่ง การจัดเพลง คมก็ไม่รู้ว่าเป็นเพลงแบบไหน อาจารย์ท่านหนึ่งก็บอกให้จัดเพลงสนุกเพื่อปลอบโยนความเศร้า คมออกรายชื่อเพลงสนุกไปให้อาจารย์ดูก็บอกว่าใช้ได้ ถึงเวลาแสดงจริงคมก็จะขึ้นเพลงตามที่เตรียมไว้ ปรากฎว่าใช้เพลงที่เตรียมได้น้อยมาก เพราะอาจารย์อีกท่านบอกว่าเพลงมันแรงไป ไม่สุภาพ แล้วอาจารย์ท่านก็เรียกเพลงที่คมไม่ได้เตรียมตัวมาเล่น ส่วนใหญ่ใช้เป็นเพลงเถายาวๆ ซึ่งต่อเพลงไว้แต่ไม่ค่อยได้ใช้ จะใช้ทั้งทีก็ไม่ได้ซ้อมเลย...เสีนดาย คมเกือบน็อคในบางเพลงของงานนี้

พี่บัญชาได้เป่าขลุ่ยร่วมในงานนี้ด้วย



วีดีโอเพลง " มยุราภิรมย์ "

วีดีโอบางส่วนในเพลง "ราตรีประดับดาว เถา"