22 ธันวาคม 2554

เพลง...สู้ทน

คมแต่งเพลง บรรเลง อัดเสียง- 5

น้ำท่วม...เป็นแรงบันดาลใจให้เพลง...สู้ทน
ที่บ้านคม น้ำเริ่มท่วมคืนวันที่ 26 ตุลาคม พอถึงเช้าวันที่ 27 น้ำท่วมที่พื้นถนนหน้าบ้านราว 10-15 ซม. ความคิดที่จะออกไปอยู่ที่อื่นชั่วคราวก็เกิดขึ้นในทันที เพราะรู้สึกว่าน้ำมาเร็วมาก ถ้าช้าจะไปลำบาก พ่อและแม่เตรียมเก็บสิ่งของเครื่องใช้ขึ้นที่สูงมาเป็นสัปดาห์แล้ว บ่ายวันเดียวกัน ครอบครัวเราก็ทิ้งบ้านไปอยู่บ้านญาติที่น้ำไม่ท่วม จัดเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวของเรา



ในการที่เราย้ายที่อยู่ชั่วคราวครั้งนี้เป็นเรื่องไม่ธรรมดา เพราะเราไม่รู้ว่าจะไปนานแค่ไหน จะได้กลับมาเมื่อไหร่ สิ่งที่ห่วงคือ เรามีสัตว์เลี้ยงทิ้งไว้ในบ้าน นั่นคือ ปลาฉลามหางแดง หรือปลากาแดง ฝูงหนึ่งมี 13 ตัว อาศัยอยู่ในตู้ปลาภายในบ้าน พร้อมเครื่องออกซิเจนให้อากาศที่เสียบปลั๊กไฟฟ้าไว้ตลอดเวลา เมื่อต้องเสี่ยงกับน้ำท่วมบ้าน เราต้องตัดไฟภายในบ้านทั้งหมดเมื่อตอนออกจากบ้าน ทำให้ปลาทั้งฝูงต้องอยู่ในสภาพลำบาก ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะได้มาดูแลปลาอีกเมื่อไหร่



เวลาผ่านไปนาน 21 วัน พ่อได้กลับเข้าไปดูแลบ้านเป็นครั้งแรก หลังจากน้ำลงมาระดับ 40-50 ซม. จากที่เคยสูง 70-80 ซม. เมื่อเข้าไปในบ้านสิ่งที่ได้พบ คือความเน่าเหม็นของน้ำภายในบ้าน และสิ่งของที่ไม่สามารถขนย้ายก็เสียหายบางส่วน และสิ่งที่ไม่คาดว่าจะได้เห็นอีก คือ การยังมีชีวิตอยู่และแข็งแรงดีของเจ้าปลาฉลามหางแดงทั้งฝูง โอ๊ะ!ช่างสุดยอด พวกมันยังอยู่ ทั้งที่ไม่มีอาหาร เครื่องช่วยหายใจ และแสงสว่าง เจ้าปลาพันธุ์นี้จึงเป็นสัตว์น้ำ สัตว์เลี้ยงที่น่าทึ่ง! ในความแข็งแกร่ง และสู้ทนของพวกมัน

ปลาฉลามหางแดง...เป็นแรงบันดาลใจให้เพลง...สู้ทน



                        น้ำนี้หนอไหลไป              ท่วมทั่ว
                  มิเลือกชั้นกลัวใคร                  หลากล้ำ
                  ขวางกั้นไว้ยั่วยิ่ง                    แรงดัน
                 โอนอ่อนไว้น้ำจาง                   ผ่อนทุกข์บางเบา

                        แม้ปลาน้อยในตู้              อยู่น้ำ
                  ปรับตัวตามน้ำอยู่                   รู้จัก
                  ต้องอดอยากย้ำสู้                  ทนนัก
                  จนถึงสิ้นวันทุกข์                    ต่อชีพยืนยาว

                        ไม่ต่างคนผจญ                ภัยน้ำ
                  ใช้ใจกายกำลัง                      สติ
                  ฝ่าวิกฤตสำเร็จ                      ทนสู้
                  พลังชีวิตล้น                         หลักคิดสู้ทน


ผู้คนที่เดือดร้อน...เป็นแรงบันดาลใจให้เพลง...สู้ทน


เพลงสู้ทน แต่งขึ้นเพื่อยกย่องสรรพสัตว์ที่เป็นนักสู้ทั้งหลาย เช่น ความเก่งของปลาที่อึด สู้ทน...จนรอดชีวิตมาได้ แม้กระทั้งคนเราก็ต้อง สู้ทน...จนชนะอุปสรรคฝ่าฟันวิกฤตไปได้ทุกสถานการณ์






เพลงสู้ทน เป็นเพลงที่คมทดลองแต่งเสียงโน้ตถึง 9 ชุด กว่าจะเป็นที่พอใจผลงานของตัวเอง และคมต้องบรรเลงได้แม่นด้วย อารมณ์เพลงต้องการให้หนัก ผ่อนกับฟังสบาย และสนุก อัตราจังหวะใช้หน้าทับปรบไก่ชั้นเดียว เร็วตลอดเพลง












22 กันยายน 2554

ประสบการณ์...วันเศร้า

นับเป็นครั้งแรกของคมที่ได้รับรู้ สัมผัสอารมณ์โศกเศร้าที่เกิดกับตัวเอง เมื่อเจอบรรยากาศการสูญเสียญาติสนิท นั่นคือ คุณตาของคมได้จากไปไม่มีวันกลับ




คมได้ไปร่วมพิธีศพของคุณตา ที่บ้านมหาโพธิ จ.นครสวรรค์ แม่บอกว่า “ตาเป็นคนชอบฟังเพลงระนาด” คมจึงควรเล่นเพลงระนาดไว้อาลัยให้ตาเป็นครั้งสุดท้าย ในงานพิธีฌาปนกิจของตา ซึ่งคมก็เห็นด้วย แต่ในครั้งนี้ คมลังเลใจที่พอจะจับความได้ว่า มีความรู้สึกขัดแย้งเกิดอยู่ในใจของคม ใจหนึ่ง สมควรต้องเล่นเพลงให้ตาอย่างไพเราะ ดีที่สุด  อีกใจหนึ่ง มันหดหู่ ไม่มีอารมณ์จะเล่นเลย  สองความรู้สึกนี้มันตรงข้ามกันอย่างแรง แม่บอกให้คมเข้มแข็งไว้ คิดเสียว่า นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้ช่วยงานตาแล้ว


เมื่อถึงช่วงใกล้เวลาแสดง คมเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่ใช้แสดง
อย่างแสนยาก งานนี้จัดให้คมขึ้นแสดงใช้เวลาราว 10-15 นาที ของวันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2554 ก่อนพิธีที่พระสงฆ์ขึ้นชักผ้าบังสุกุล ณ หน้าเมรุวัดมหาโพธิใต้  มีการประกาศให้คมผู้เป็นหลาน จะมาแสดงเดี่ยวระนาดเอกไว้อาลัยให้คุณตา ด้วยเพลงแรก “ชมมะลิลา” เป็นเพลงที่คมแต่งเอง และตาได้ฟังแล้วชอบ  เพลงที่สอง “ลาวดวงเดือน” ใช้เป็นเพลงอาลัยลาครั้งสุดท้าย







การแสดงของคมครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ใช้กลองไฟฟ้าให้จังหวะ นำมาประกอบการแสดงด้วย มันจะทำให้เพลงไพเราะขึ้นกว่าการเล่นระนาดอย่างเดียว แต่มันก็ใช้ยาก ต้องเล่นไปด้วยบังคับกลองไปด้วย ท่าแสดงไม่สวย ผู้ฟังจะสะดุด ถ้าจะให้ดีต้องมีคนช่วยที่รู้วิธีใช้กลอง รู้เพลง แต่คมไม่มี จึงต้องเล่นระนาดและกลองด้วยตัวคนเดียวเป็นข้อจำกัด และคอยบอกให้แม่ช่วยกดกลองเมื่อเพลงลงจบ

วีดีโอบางส่วนของเพลง "ชมมะลิลา"
 

วีดีโอบางส่วนของเพลง "ลาวดวงเดือน"

ผลที่เกิดความรู้สึกขัดแย้งในใจคม เพลงชมมะลิลา ที่คมซ้อมท่อนหัวมาเป็นอย่างดี เป็นลีลาเพลงที่ตาชอบ หายไปโดยไม่รู้ตัว  เกิดอาการน้ำท่วมตาที่ไม่ใช่เหงื่อในขณะบรรเลง และคมทำหน้าที่พาเพลงถึงฝั่งมาได้แบบ...ไม่มีใจจะบรรเลง...แต่มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ

05 กันยายน 2554

สิงหา...วันเกิด...วันแม่

เดือนของ...วันเกิด

ชีวิตหนึ่งเกิดมาได้ แสนยาก พ่อแม่ต้องลำบากเลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่ เพื่อให้ลูกหยัดยืน เป็นคนดีมีคุณภาพ ชีวิตของเรา...จึงมีคุณค่ากันทุกคน และคนทุกคนต่างก็มีจุดดีเด่นในตัวเอง จะต่างกันตรงที่ ใครจะค้นพบคุณค่านั้นแล้วหรือยัง จะได้นำคุณค่านั้นไปพัฒนายิ่งๆ ขึ้นให้เจริญรุ่งเรืองกันต่อไป

ภาพคม เขียนโดย พ่อ สี Oil Pastels

วันเกิดปีนี้คมมีของขวัญพิเศษจากพ่อของคม พ่อได้เขียนภาพเหมือนให้คมครับ นี่คือภาพของคมจากฝีมือของพ่อคมเอง

เดือนของ...วันแม่

แม้วันแม่จะผ่านมาแล้ว สำหรับคม แม่มีความพิเศษกับคมทุกวัน คมจึงอยากกล่าวถึงแม่ดังนี้



                     รักนี้มีให้ ... ด้วยใจบริสุทธิ์ ... แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ไม่มีวันจืดจาง ... แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ไม่มีวันหมด ...    แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ไม่มีวันทิ้งกัน ...  แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ไม่มีวันคิดร้าย ... แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ไม่มีเงื่อนไขใด ...แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ไม่มีขีดจำกัด ...   แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... จริงแท้แน่นอน ... แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ...  ตลอดเวลา ...     แม่รักลูก
                     รักนี้มีให้ ... ตายแทนเราได้ ... แม่รักลูก
                                          ฯลฯ

แม่เป็นผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่สูงสุดในชีวิตของเราทุกคน บทเพลงที่เชิดชูเกียรติในพระคุณของแม่ที่มีให้กับลูกๆ ที่มีความหมายดี และมีอยู่แล้ว คือเพลง ค่าน้ำนม และเพลงอิ่มอุ่น  คมจะขอนำมาบรรเลงฝากให้คุณแม่ทุกท่าน และแม่ของคมด้วย ในแนวไทยเดิม ลองฟังดูนะครับ



ไพบูลย์ บุตรขัน ผู้แ่ต่งเพลงค่าน้ำนม
           เพลงค่าน้ำนม แต่งโดย คุณครูไพบูลย์ บุตรขัน นักแต่งเพลง และนักเขียนบทละคร ที่มีผลงานที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก จนได้รับการขนานนามให้เป็น "อัจฉริยะนักแต่งเพลงอันดับหนึ่งของไทย" ขับร้องและบันทึกเสียงครั้งแรกโดย ชาญ  เย็นแข เมื่อ พ.ศ. 2492 ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับไพบูลย์ บุตรขัน และชาญ เย็นแข มากที่สุด ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงที่เป็นรากฐานของเพลงลูกทุ่ง ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ กันยายน พ.ศ. 2532 
          เพลงค่าน้ำนม เป็นเพียง หนึ่งในเพลง จำนวน 5-6 เพลง ที่ไพบูลย์ บุตรขัน แต่งให้กับมารดา คือ นางพร้อม ประณีต (ครูไพบูลย์ มีนามสกุลเดิมว่า ประณีต) ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลครูไพบูลย์อย่างใกล้ชิดมาตลอด ตั้งแต่วัยหนุ่มจนท่านเสียชีวิตในวัย 70 กว่าปี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2508 ถึงแม้ครูไพบูลย์จะป่วยเป็น โรคเรื้อน ซึ่งได้รับความรังเกียจจากบุคคลทั่วไป (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

 
เพลงค่าน้ำนม (ระนาดเอก)


ศุ  บุญเลี้ยง ผู้แต่งเพลงอิ่มอุ่น
           เพลงอิ่มอุ่น แต่งโดย คุณจุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ศิลปินอิสระ ที่มาของเพลง ศุ บุญเลี้ยง แต่งเพลง "อิ่มอุ่น" ตามคำขอของ อาจารย์หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลศิริราชเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยหัวหน้าของพี่สาวของศุ ซึ่งเป็นพยาบาลได้ทำโครงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แล้วต้องการให้ศุแต่งเพลงนี้ขึ้น เพราะเห็นว่า ในการให้นมลูก แม่ต้องตระกองกอดแล้วช้อนตัวลูกขึ้นมาจึงไม่ได้ทำให้ "อิ่ม" อย่างเดียว แต่ว่า "อุ่น" ด้วย  
          ปัจจุบัน "อิ่มอุ่น" เป็นเพลงที่มีการเผยแพร่ตามท้องที่ต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงวันแม่แห่งชาติ (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี) 

                                                   เพลงอิ่มอุ่น (ซออู้)

13 กรกฎาคม 2554

เพลง...ชมมะลิลา

คมแต่งเพลง บรรเลง อัดเสียง- 4


เพลงนี้เกี่ยวกับดอกไม้ที่ทุกๆ คนรู้จักเป็นอย่างดี ลักษณะเด่นของดอกไม้นี้คือ มีกลิ่นที่หอมมาก...หอมสดชื่นจริงๆ ดอกมีสีขาวนวล จัดเป็นไม้ประดับชนิดหนึ่งที่เป็นทั้งสมุนไพร และเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกง่ายในไร่ สวน ทำรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวและชุมชนของคนไทยมานาน นั่นคือ ดอกมะลิ

มะลิลา ขอขอบคุณภาพสวยจาก aroi-snook.bloggang.com

มะลิกับวัฒนธรรมไทย ขอขอบคุณภาพจาก net

ดอกมะลิ  มีหลายสายพันธุ์ พันธุ์ที่นิยมจะมีลักษณะดอก แบบกลีบชั้นเดียว เรียก “มะลิลา” แบบกลีบซ้อนดอกใหญ่หนา เรียก “มะลิซ้อน” เป็นดอกไม้ที่สูงค่าิ อยู่คู่สังคมและวัฒนธรรมไทยมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เราใช้ดอกมะลิร้อยมาลัย บูชาพระ ใช้ตกแต่งในงานพิธีมงคลต่างๆ และใช้เป็นสื่อแทนความรัก...ที่ลูกมีให้กับแม่ผู้ให้กำเนิด ผู้มีพระคุณ ผู้เป็นที่รักเคารพยิ่งของเรา

มะลิลา มะลิซ้อน ขอขอบคุณภาพสวยจาก maipradab.com





กลิ่นอันหอม ขาวสะอาด มีคุณประโยชน์มากมายของดอกมะลินี้  คมขอชื่นชมเป็นเพลงไทยเดิมให้ดอกไม้นี้ มีชื่อว่า “ชมมะลิลา”  เป็นเพลงจังหวะ 3 ชั้น ใช้จังหวะกลอง หน้าทับปรบไก่ โน้ตเพลงมี 2 ท่อน เพลงในท่อนหลัง คมทดลองใช้เสียงล้อมีทั้งแบบตามกัน และแบบที่ขัดกัน มาเป็นเสียงล้อด้วยซออู้ ซึ่งเพลงส่วนใหญ่จะใช้เสียงที่ซ้ำกัน ล้อเสียงตามกัน ก่อนรับฟังเพลง จะมีบทส่งเพลงดังนี้...


                      หอมเอยเจ้าหอม           ชื่นกลิ่นชวนดอม
                  ภมรรุมตอม                       ดอกขาวมากมาย
                  ดอกเดียวเด่นสวย              พันดอกร้อยลาย
                  มาลัยสร้อยสาย                 งามงานพิธี
     
                      เป็นสมุนไพร                 รักษาโรคได้
                  ดอกบานเราใช้                  ลอยน้ำหอมอิ่ม
                  แต่งขนมหวาน                  ชวนทานน่าชิม
                  นิยมปลูกริม                      รั้วบ้านนานมา 

                     ดอกเอยเจ้าหอม            แม้นใครได้ดอม
                  ชื่นกลิ่นหอมล้อม              ติดชิดอุรา
                  ใช้แทนคุณแม่                  ท่วมท้นตรึงตรา
                  มีคุณหนักหนา                  ดอกมะลิเอย

                     อันตัวฉันนี้                     เป็นเด็กน้อยที่
                  ชอบดอกไม้มี                   กลิ่นหอมงามตา
                  ซาบซึ้งคุณค่า                   จึงฝากเพลงมา
                  ชมมะลิลา                         ด้วยสุขใจเอย







เพลง... ชมมะลิลา (ระนาดเอก-ซออู้)

16 มิถุนายน 2554

เพลง...ย่ำบิน

คมแต่งเพลง บรรเลง อัดเสียง-3

แด่...เจ้านกป่าตัวนี้มิได้อยู่กลางพงไพร...ไร้อิสระ
เราคิดจะ...ช่วยเจ้าให้ได้บินขึ้น...ถึงกลางเวหา
ให้ได้พบ...ท้องฟ้าแสนอำไพเจ้าจงไป...ให้ถึงที่
ด้วยเพลงนี้...ฝันให้เจ้ามีเสรีภาพได้...ย่ำบิน




ต่อจากเพลง ”เอี้ยงเล่นน้ำ” ที่นกเอี้ยงชอบเล่นน้ำมาก มีบางอย่างที่คมไม่ชอบลักษณะกริยาของนก เวลามันหงอยเหงา อาจเป็นเพราะมันไม่ได้อยู่ในธรรมชาติ ไม่มี่สังคมเพื่อนฝูงเล่นคุยเหมือนนกทั่วไป สงสารมัน ให้มันอยู่นอกกรงก็บ่อย แต่มันคงยังไม่พอ จึงเป็นที่มาของการแต่งเพลงลำดับที่ 3 ของคม...ให้กับเจ้านกเอี้ยง เพลงนี้ให้ชื่อว่า “ย่ำบิน” อารมณ์เพลงแนวอ่อนโยนปนคึกคัก หรือชักชวนให้มาสนุกกัน

ใช้เชิงดนตรี คมใช้ระนาดเอกเป็นเครื่องหลัก ใช้วิธีอัดเสียงครั้งเดียวกับจังหวะ ทีเดียวจบ

คมซ้อมเพลง ก่อนอัดเสียง

 
แด่...นกน้อยผู้ไร้อิสระ
เราคิดจะพาเจ้าเที่ยวกลางเวหา
ได้โบยบินถึงท้องฟ้าผ่องอำไพ
เสียงเพลงนี้จักพาเจ้าไป ออก...ย่ำบิน


ภาพประกอบ...เพลงย่ำบิน

เพลง...ย่ำบิน /  Walk-Fly

04 มิถุนายน 2554

โรงเรียนเซนต์โยเซฟเมืองเอก ที่...คมเรียน

ที่นี่...คมมีส่วนช่วยครูนำเพลงใหม่ๆ มาเล่นกัน

 

คม...เริ่มเข้าวงดนตรีไทยของโรงเรียนเซนต์โยเซฟเมืองเอก ตอนปลายชั้นประถมปีที่ 4 โดยเพื่อนที่คุ้นเคยกับห้องดนตรีไทย พาไปเล่น จำได้ว่าคมเล่นเพลง “เขมรไทรโยค” เมื่อครูเห็นก็รับเข้าวงทันที และได้เล่นระนาดเอกตั้งแต่นั้นมา เมื่อโรงเรียนมีกิจกรรมต่างๆ จะมีการแสดงดนตรีไทย คมจะมีส่วนร่วมด้วยเสมอ





"วันแม่แห่งชาติ"  คมร่วมแสดงในกิจกรรมของโรงเรียนเซนต์โยฯ เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2554





นอกจากนั้นคมก็จะเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันทักษะวิชาการ กับโรงเรียนอื่นๆ ของกลุ่มการศึกษาสถานศึกษาเอกชน ปทุมธานี



ในช่วงชั้นประถมปีที่ 5 คมมีหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้ช่วยครูดูแลห้องดนตรีไทย และคุมวง จัดการฝึกซ้อมเพื่อนๆ ให้เป็นวง เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยครูให้โอกาสเต็มที่ เพลงที่ใช้เล่นเดิมๆ จะเป็นเพลงลาวเสี่ยงเทียน ลาวดวงเดือน เป็นต้น คมได้นำเพลงโหมโรงจีนตอกไม้ มาฝึกซ้อมกับเพื่อนๆ จนสำเร็จระดับหนึ่ง และใช้ออกงาน ทำให้กลุ่มดนตรีไทยดูคึกคักขึ้น

อีกผลงานที่คมภาคภูมิใจ คมเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมเพื่อนๆ ที่เป็นรุ่นพี่คมหนึ่งปี ทั้งสองคน





มีพี่ไทก้า (ผู้ชาย) แข่งเล่นขิม พี่พีท (ผู้หญิง) แข่งเล่นซออู้ และคมแข่งเล่นระนาดเอก มีกันแค่ 3 คนไปทำหน้าที่ตัวแทนของโรงเรียน สลับกันทำหน้าที่เวลาแข่ง

บรรยากาศในห้องซ้อมก่อนเข้าแข่งซอ คมลองเล่นขิม เป็นเพื่อนซออู้

คือ เมื่อใครไม่ได้แข่งในเครื่องหลักของตัวเอง ก็จะมาเล่นเครื่องให้จังหวะ คมจะเป็นคนเล่นกลองโทนรำมะนา ตอนที่พี่ไท้ก้าแข่งขิม และพี่พีทแข่งซออู้ เมื่อถึงเวลาคมแข่งระนาด พี่ไทก้าจะเล่นโทนรำมะนา และพี่พีทตีฉิ่ง สลับตำแหน่งกัน


ผลการแข่งขันออกมา คมและพี่พีทได้เหรียญทอง พี่ไทก้าได้เหรียญทองแดง มันเป็นผลงานที่พวกเราพอใจ เพราะเราทำดีที่สุดแล้ว