15 กรกฎาคม 2553

3 Mini Concert

เล่นระนาด....ที่บ้านนอก

กิจกรรมสุดโปรดของคมคือ ไปเที่ยวเยี่ยมยายที่ต่างจังหวัด บ้านยายอยู่นครสวรรค์
การไปแต่ละครั้ง คมจะหอบเครื่องดนตรีที่คมเล่นได้ไปเล่นให้ยายดู และถือเป็นการซ้อม
ไปในตัว นอกนั้นคมได้วิ่งเล่น ถีบจักรยานสมใจ และคมมีเพื่อนเล่นข้างบ้านยายหลายคน
สนุกมาก แต่หลังๆชักจะไม่สบอารมณ์ จะมีญาติๆ และคนรอบๆ บ้านยายเข้ามาทักทาย
“ไอ้หนูเขาว่าเองตีระนาดเก่ง เล่นให้ยายดูหน่อยได้มั๊ย” และอีกหลายคน
ก็พูดคล้ายๆ กัน ตัวคมเองนั้นไม่อยากเล่นให้ใครดูนอกจากตายาย
เพราะจะเล่นอะไรก็ได้เป็นอิสระ ถ้าเป็นคนอื่นก็กลัวว่ามันจะ
ไม่จบง่ายๆ ถ้าไม่เล่นให้ดูก็เสียที่ยาย เขาจะมาพูดว่ายาย
“หลานแกหยิ่งจังขอให้เล่นระนาดให้ดูหน่อยก็ไม่ได้”
เจออย่างนี้คมก็อึดอัด วิ่งเล่นไม่สนุกเสียแล้ว
แถมยายมาบอกว่า “พรุ่งนี้ตากับยายจะร่วมกับคนในซอย
จัดงานทำบุญต้อนรับปีใหม่ คมเล่นระนาดตอนช่วง
พระฉันให้หน่อยได้มั๊ย” เอ้า! หนักกว่าเดิม


แม่จึงพูดกับเขา "น้องคมครับแม่เข้าใจความรู้สึกของคมน๊ะ" มีการชี้แจงทางเลือกให้เขาทางแรก ใครจะมาดูคมเล่นก็ตีให้เขาดูทีละคนสองคน ไม่รู้ว่าจะมีคนมาขอกี่คนทางที่สองไม่ตีให้ดูก็ได้ใครจะทำไม อันนี้ไม่มีใครมาทำอะไรคม แต่ก็เสียของ เครื่องดนตรีที่เอามา และฝีมือที่คมมี หากไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ก็น่าเสียดาย ยิ่งมีคนมารอชื่นชมหาโอกาสไม่ได้ง่าย ทางสุดท้าย ถ้าคมช่วยตายายงานนี้ ตายายจะมีความสุขมาก และคนรอบข้างทุกคนเขาได้ดูสมใจแล้ว จะไม่มีใครมารบกวนคมอีก คมจะวิ่งเล่นตามสบายให้คมเลือกเอา และคมก็เลือกจะช่วยยาย แต่ขอความมั่นใจว่าไม่มีใครยุ่งจริงน๊ะ

งานนี้ก็ถือว่าไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า คมและแม่ช่วยกันจัดวางเพลงที่จะเล่นให้จบพอดี ภายในครึ่งชั่วโมง ใช้เพลงที่เป็นทางการหนึ่งเพลงคือ โหมโรงไอยเรศ เน้นเพลงไพเราะและชาวบ้านคุ้นเคย จัดเพลงกันช่วงเย็น พอรุ่งขึ้นช่วงเช้าก็แสดง พอบรรเลงไปเวลาก็เกินไปราว 10 นาที พระฉันอาหารเสร็จท่านก็รอ...จนคมเล่นครบเพลง งานนี้ท่านเจ้าอาวาสวัดมหาโพธิใต้มาเอง พอท่านขึ้นที่นั่งหัวแถว และพระทั้งหมด 9 องค์ นั่งเข้าที่เรียบร้อยแล้ว ท่านเจ้าอาวาสก็เรียกคมไปหา ลูบหัวเบาๆ แล้วก็หยิบของในย่ามใส่มือให้เป็นหลวงพ่อเฮงที่ปลุกเสกมารุ่นล่าสุด ตาบอกว่ายังไม่มีใครได้เห็น และก็มีชาวบ้านปรบมือให้ เขินอีกแล้วน๊ะคม เมื่อเสร็จพิธี เจ้าอาวาสจะกลับวัดได้พูดทิ้งท้ายกับตาว่า "งานเทศน์มหาชาติปีนี้เอาหลานไปตีระนาดมั๊ยโยม" ได้ยินตาตอบว่า "เด็กมันเรียนอยู่กรุงเทพฯคงไม่สะดวก" จบงานนี้มีผู้ให้เงินรางวัลโดยไม่ได้คาดหวังหลายตังค์สำหรับเด็ก พอคมมีเงิน สิ่งแรกที่เขาคิดจะใช้เงิน เขาจะซื้อซ้อด้วงคันยาวของอาจารย์สุวิทย์มาให้ได้




ส่วนหนึ่งของการบรรเลงเดี่ยว รวมเพลงแบบต่อเนื่อง มีเพลง.....
โหมโรงไอยเรศ....ค้างคาวกินกล้วย....เขมรไทรโยค....มยุราภิรมย์
 

13 กรกฎาคม 2553

5 ประสบการณ์...แข่งซอด้วง

ไปแข่งซอด้วง...ชิมสนาม

ช่วงปิดเทอมใหญ่ คมมีซอด้วงเป็นของตัวเองแล้ว และซื้อมาด้วยหยาดเหงื่อของตัวเองเป็นซอคันยาวพิเศษของอาจารย์สุวิทย์ที่หวงมาก ไม่อยากจะขาย ได้มาแล้วก็อยากเล่นเป็น

คมได้ไปลงเรียนซอด้วงคอร์ส 20 ชั่วโมง จบคอร์สภายใน 1 เดือน ก็มีรายการแข่งขันทักษะโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ที่ศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์ ในวันที่ 28 เมษายน 2553 ประเภทซอด้วง

คุณครูส่งให้ไปลองสนามแข่งหาประสบการณ์ดู ในวันแข่งขัน คมอยู่ลำดับที่ 11 ในกลุ่มผู้แข่งขันระดับอายุไม่เกิน 13 ปี และคมตอนนี้อายุยังไม่เต็ม 10 ปี มีผู้แข่งขันขึ้นไปแข่งเล่นซอด้วงบนเวทีแล้ว ราว 10 คน ในห้องแข่งขันเงียบมาก เข้าใจว่าเป็นกฏกติกา เพื่อมิให้รบกวนสมาธิผู้แข่งขัน มีผู้นั่งชมไม่เกิน 30 ที่นั่ง และพิธีกรขอความร่วมมือให้ปิดโทรศัพท์มือถือ ไม่มีใครกล้าส่งเสียงดัง

เมื่อถึงลำดับที่คมต้องขึ้นแสดง คมเล่นเพลงนางครวญ 2 ชั้น (เป็นเพลงเศร้า ครูเน้นให้ทำอารมณ์และท่าทางให้เศร้าด้วย) พอจบเพลง ก็มีเสียงปรบมือเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน ผู้ชมในห้องดูคึกคักขึ้น จนทางคณะกรรมการประกาศว่า สามารถปรบมือเป็นกำลังใจให้น้องๆ ได้ไม่ผิดกติกา ต่อจากนั้นผู้แข่งขันก็ได้รับเสียงปรบมือกันทุกคน คมจึงเป็นคนแรกที่ทำให้เกิดเสียงปรบมือในครั้งนี้ พอลงจากเวที มีคุณยายท่านหนึ่ง ลุกขึ้นจากเก้าอี้เข้ามาจับแขนลูบหัว และผู้ใหญ่อีก 2 ท่านก็เข้ามาชื่นชมให้กำลังใจโดยที่เราไม่ได้รู้จักกัน เล่นเอาคมเขิน งานนี้ทำให้คมมีลุ้นเหรียญทอง...แต่เสียงปรบมือก็ไม่ใช่คณะกรรมการ มันจึงเป็นคนละเรื่องแต่อยู่ในเรื่องเดียวกัน ยึดมั่น เอาแน่นอนไม่ได้

แม่ได้คุยให้คมเข้าใจ นี่ไงล่ะ ประสบการณ์ เราได้ประสบการณ์แล้วเป็นเหรียญเงินมาด้วย และมีผู้ชมให้ดอกไม้แห่งเสียงปรบมือกลับบ้าน ดอกไม้นี้จะเบ่งบานในใจเรา เป็นยาชูกำลังอย่างดี และฝังใจไปนาน





วีดีโอเพลง "นางครวญ 2 ชั้น"

4 ประสบการณ์...เวทีใหญ่

ภารกิจ...แบกช้างขึ้นเวที

หลังจากเรียนระนาดเอกปีกว่า เริ่มเรียนซออู้ร่วมเข้ามาอีก 1 ชนิด เรียน
ได้ราว 6 เดือน ก็ถึงงานแสดงยุวชนคีตศิลป์ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์วัฒนธรรม
แห่งประเทศไทย (โรงเล็ก) ในวันที่19 กุมภาพันธ์ 2553

คมร่วมแสดงในเพลง ชื่นชุมนุมกลุ่มดนตรี....เขมรไทรโยค-มยุราภิรมย์ เล่นซออู้ ร่วมกับศิลปินรับเชิญวง “กอไผ่” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในฉากประชันระนาดเอก เป็นมือจริงที่ตีระนาดเอกแทนนายศร ในภาพยนตร์ "โหมโรง" โดยคุณทวีศักดิ์ อัครวงศ์

คมเล่นระนาดเอกในวงปี่พาทย์ แสดงในเพลงแม่งู และเพลงกราวเงาะ งานนี้เพลงแม่งู เป็นเพลงหลักที่ตนรับผิดชอบ ที่ซ้อมไว้เป็นเพลงเล่นรวดเดียวจบในวันซ้อมใหญ่ต้องแยกเพลงให้ศิลปินรับเชิญได้ร่วมร้อง ปัญหาคือ คมจำช่วงเพลงที่จะนำระนาดเอกเข้ารับหลังคำร้องยังไม่ได้ หนักใจมาก ยังไม่พอ เพลงกราวเงาะของพี่ใหญ่อีกคนรับผิดชอบ เขาไม่มาแสดง คมต้องเล่นเพลงกราวเงาะแทนโดยไม่รู้ตัวล่วงหน้า ซึ่งเพลงของพี่เขาต้องใช้ข้อมือเร็ว และใช้กำลังหนักขึ้น กลัวตัวเองจะแรงไม่พอ แถมยังแยกเพลงใส่คำร้อง ปัญหาเหมือนเพลงแม่งู ในวันซ้อมยังไม่รอดทั้งวันกินข้าวไม่ลง ในวันแสดงจริงกลัวจะตายใน 2 เพลงนี้ คมโดนครูเคี่ยวจนขำกันทั้งวง ก่อนหน้านี้ในวงปี่พาทย์ จะมีกลุ่มพี่มัธยมระดับยอดฝีมือเป็นผู้เล่นหลัก คมอยู่ชั้น ป.4 เริ่มมาเข้าวง ก็กลัวจะเป็นตัวถ่วงในวงอยู่ก่อนแล้ว งานนี้...ทุกข์สุดยอดเลย คมทำทุกอย่างเต็มความสามารถที่สุดแล้ว และการแสดงก็ผ่านไปได้ และปิดท้ายด้วยการแสดงในเพลง เต่ากินผักบุ้ง เล่นระนาดเอกร่วมกับวงมโหรี จบการแสดงคมสภาพเหมือนหุ่นยนต์แบตฯ หมด ไม่รับรู้สิ่งใด ขึ้นรถได้ก็หลับยาว....






วีดีโอบางส่วน "เพลงเขมรไทรโยค"

วีดีโอบางส่วน "เพลงแม่งู"




วีดีโอ "เพลงกราวเงาะ"

12 กรกฎาคม 2553

2 ประสบการณ์...นอกโรงเรียนดนตรี

ประสบการณ์...ชิมราง...จางนิยม

เรียนระนาดเอกได้ราว 8 เดือน ได้แสดงเดี่ยวระนาดเอกคู่กับงานปั้นดินของพี่กานต์
ด.ช.จินตการ ชาญชิต นักปั้นดินยอดฝีมือ ที่หอศิลป์ กทม. ตรงข้ามห้างมาบุญครอง
ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552

เพลงที่ใช้แบ่งเป็น 3 ชุด ชุดแรกสนุกๆ เช่น ค้างคาวกินกล้วย ชุดต่อมาเป็นเพลงในภาพยนตร์โหมโรง เช่น โหมโรงจีนตอกไม้ และชุดสุดท้ายเป็นเพลงอมตะ เช่น ลาวเสี่ยงเทียน รวมทั้งหมด 10 เพลง ใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมง เป็นการลองทดสอบความกล้าเล่นระนาดคนเดียวในที่สาธารณชน และรับผิดชอบคิวการแสดงให้ผ่านจนจบการแสดง มีชาวต่างชาติมานั่งดูถ่ายวีดีโอเพิ่มขึ้น และปรบมือให้กำลังใจ แต่คนไทยหายไปเกือบหมด ซึ่งก่อนหน้านี้การแสดงเป็นเครื่องดนตรีสากลของเด็กโต มีคนไทยนิยมดูกันมากกว่า









วีดีโอบางส่วนของเพลง



ขายผลงาน...เพลงไทยเดิมราคาถูกๆ จ้า

การร่วมออกร้านขายของกับพี่กานต์ ตัวเองไม่มีผลงาน
เป็นรูปเป็นร่างที่จะขายเหมือนพี่เขา จึงคิดทำผลงานเพลง
ที่เล่นได้ ทำง่ายๆ แบบเด็กๆ เอาไปขายถูกๆ โดยมีแม่
เป็นผู้ทำให้คม จะมีแผ่นเพลงมาวางขาย และตีระนาด
ให้ดูไปด้วย มีคนมาซื้อบ้างราว 30 กว่าคน แค่นี้ก็ดีใจแล้ว
ผลงานที่ทำขาย แบ่งเป็น 2 ชุด คือ ชุดฟังเพลงไทยเดิม
และชุดแสดงการ








เห็นทางตัวเอง

เรียนระนาดเอกได้ราว 1 ปีเศษได้เพลงมาเยอะ พร้อมกับเพลงที่แกะมาเองจากชุดเพลงที่ชอบของขุนอิน 1-2 ยังจำทั้งหมดได้อยู่ แต่พ่อกลัวลูกจะลืม เพราะเพลงไทยเดิม ผู้เล่นต้องจำทั้งหมดได้เอง และสำคัญมากกับตำแหน่งระนาดเอก ซึ่งเป็นเครื่องนำวง ถ้าระนาดเอกพลาดทั้งวงก็พัง พ่อจึงทำวีดีโอรวมผลงานที่เล่นไว้ทั้งหมดออกมาเป็นตัวช่วยบันทึกความจำ ได้ทำเพลงแยกออกเป็น 4 ชุดคือ....ชุดเพลงลาวมี 9 เพลง / ชุดเพลงยาว 4 เพลง / ชุดเพลงสั้น18 เพลง / ชุดรวมเพลง 9 เพลง และมีเพลงที่แกะเองรวมอยู่ด้วย เพลงแรกชอบมาก คือ ลาวดวงดอกไม้ สีนวล ฝั่งโขง ยวนเคล้า ต้นวรเชษฐ์ ลาวลำปาง และเพลงอื่นๆ มี โหมโรงปฐมดุสิต ทดลองแกะไปให้ครูฟังว่าใช้ได้ไหม ถูกต้องไหมเพื่อใช้เรียนในชั่วโมงดนตรี ครูว่าถูกต้องก็มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น และเพลงโหมโรงจอมสุรางค์ก็ชอบมาก แกะมาจากคณาจารย์วงคำหวานที่เล่นไว้ในยุวชนคีตศิลป์ครั้งที่ 2 นั่งดูชมบ่อยจนจำมาได้ 70% ของเพลง จึงมาตีให้อาจารย์สุวิทย์ดู อาจารย์จึงต่อเพลงนี้ให้ด้วยตนเอง และทำให้คมมีโอกาสต่อเพลงขั้นสูงแบบก้าวกระโดดไปหลายขั้นมาตั้งแต่บัดนั้น



วีดีโอเพลงฝั่งโขง

วีดีโอเพลงแขกบรเทศเถา

01 กรกฎาคม 2553

1 Kom-ranad-ake


"คมระนาดเอก" นามนี้เป็นชื่อที่ได้จากชื่อเล่น "คม" ผสมกับเครื่องดนตรีที่ชอบ
ระนาดเอก และตำแหน่งที่เล่นในวงปี่พาทย์ ระนาดเอก
เนื่องจากตำแหน่งระนาดเอกนั้นเหนื่อยยากมาก จึงขอ
ลำลึกถึงและขอเชิดชูเกรียติ...นักระนาดเอกยอดฝีมือทุกๆ
ท่าน...หากพระเจ้าไม่ได้ประทานพรพลังช้างสารมาให้ท่าน
กว่าจะได้เป็นยอดฝีมือคงต้องฝึกกันมาหนักมากๆ ...และคม
ก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่พบเจอความเหนื่อยยากนี้ แต่ก็ยัง
รักดนตรีไทยและใฝ่ฝันจะเป็นผู้มีฝีมือทางระนาดเอก

ถ่ายทอดเรื่องราวโดย...แม่


จุดเริ่มต้นของคม

เริ่มจากแม่ได้มองหาสิ่งที่ลูกชอบ สนใจ และมาประสบผลเมื่อลูกได้ดู
ภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง” ที่ลาโรงไปหลายปีแล้ว ซึ่งลูกได้ดูตอนอายุ
ราว 5 ขวบ เขาดูได้บ่อย ดูซ้ำๆ ดูเป็นปีๆ จดจำทำนองเพลงได้หลายเพลง
และอยากจะตีระนาดเก่งเหมือนนายศร และขุนอิน ตัวละครผู้สร้าง
แรงบันดาลใจ จึงหาที่เรียนระนาดเอกที่ ร.ร. ดนตรีเบญจรงค์
เริ่มต้นตอนอายุราว 8 ขวบ และเรียนมาจนถึงวันนี้


นั่นคือ...จุดที่มาของความรักการเล่นดนตรีไทย ชอบเพลงไทยเดิม แม่เสริมความชอบให้เขาโดยหาเพลงไทยเดิมหลากหลายมาให้ฟัง ลูกจะเลือกฟังเพลงที่เขาชอบอีกที ผลที่ได้เวลาเรียนดนตรี ลูกจำเพลงได้เร็ว แม่นยำ เล่นได้ดีในเพลงที่เขาชอบ เมื่อเล่นเพลงทางระนาดเอกได้มากพอสมควร ซึ่งใช้เวลาเรียนระนาดเอก 1 ปีกว่าๆ ลูกก็สนใจอยากเล่นเครื่องสายเพิ่มขึ้นอีกเครื่อง จึงเริ่มเรียนซออู้ เรียนได้ราวครึ่งปี ก็เปลี่ยนมาเป็นซอด้วง และเรียนคู่กันมากับระนาดเอกจนถึงปัจจุบัน


ด้วยความที่รักเพลงไทยเดิม รักการเล่นดนตรีไทย
ของคม...เขามีความคิด และได้พูดว่า...
“ผมจะไม่ยอมให้เครื่องดนตรีไทย
ถูกวางอยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์”

ซึ่งผู้เป็นพ่อแม่ไม่อยากเชื่อว่าเขาจะพูดขึ้นมาได้
และเขาก็ได้แสดงออกให้ได้ฟังได้ดูกัน

เมื่อมีโอกาสลงผลงานในอินเตอร์เน็ต คมจึงนำผลงานเพลงไทยเดิมที่ทำไว้แยกเป็น แบบฟังเพลงไทยเดิม และแสดงการเล่นเพลงไทยเดิม มาเผยแพร่โดยเป็นผู้บรรเลงด้วยตนเองทั้งหมด เต็มความสามารถแบบเด็กๆอาจผิดพลาด ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์แบบ ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย


ประสบการณ์ทางดนตรีไทย

คุณค่าของระนาดรางเล็ก

ตอนเรียนระนาดช่วงแรกของคม เมื่อได้เพลงจากโรงเรียนดนตรีมาแล้ว ต้องกลับมาซ้อมเพลงที่บ้านมีเพียงระนาดรางเล็ก มีลูกระนาด 17 ลูก ถ้าเทียบกับระนาดรางใหญ่ มีลูกระนาด ถึง 22 ลูก ระนาดรางเล็กจึงขาดเสียงโน้ตไป 5 เสียงมันจึงทำให้คม รู้จักใช้การตีเสี้ยวเพื่อทดเสียงให้ได้ครบหรือใกล้เคียง คมได้ใช้ระนาดรางเล็กฝึกซ้อมทุกเพลงที่เรียนมา และคมต้องปรับตัวอย่างมากกับท่ากางแขนตีระนาดทั้งสองรางที่ต่างขนาดกัน เขาใช้ระนาดรางเล็กซ้อมได้นานกว่า 6 เดือน ด้วยเหตุผลว่า อยากให้พ่อแม่ไว้ใจว่าเขาตีระนาดได้จริงซื้อให้แล้วไม่เสียเปล่า ต่อมาจึงมีระนาดรางใหญ่เป็นของตัวเองด้วยความภาคภูมิใจ


วีดีโอ "เพลงฟ้อนเงี้ยว"


ประสบการณ์...ระนาดตัวอ่อน


เรียนระนาดเอกได้ราว 2 เดือนกว่า ออกแสดงงานครั้งแรกในห้างโลตัสใกล้โรงเรียน
ในงาน วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2551 (คมตื่นเต้น และสนุกในงานนี้)





วีดีโอ "เพลงลาวกระทบไม้ "



ก้าวสู่
...เวทีใหญ่

เรียนระนาดเอกได้ราว 6 เดือน ได้ร่วมแสดงงาน ยุวชนคีตศิลป์ครั้งที่ 2
ที่โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง ในวันที่ 10 ธันวาคม 2551
เพลงที่ใช้ในงานแสดง



เพลงที่ใช้ในงานแสดง
- เพลงตับแม่ศรีทรงเครื่อง (ตับนก) เป็นเพลงชุดประกอบด้วย....นกโพระดก / นกกางเขน /
นกกาเหวา / ไก่ (ในช่วงนั้นถือเป็นเพลงยากที่สุดของคม และในวงมีเด็กจะเล่นได้น้อยคน
แสดงร่วมกับคณาจารย์วง ”คำหวาน”


- เพลงตับภุมรินทร์ เป็นเพลงชุดประกอบด้วย....ผีเสื้อ / นกสาริกา / นกยูง / นกสีชมพู


- เพลงยอยศพระลอ หรือลาวกระทบไม้ บรรเลงร่วมกับศิลปินรับเชิญ อ.ชินกร ไกรลาศ
ศิลปินแห่งชาติ


- ลาวดวงเดือน บรรเลงร่วมกับศิลปินรับเชิญ อ.ชินกร ไกรลาศ และขุนอิน
อ.ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า



วีดีโอ "เพลงรวม"
มีเสียงคมตีระนาด เพลงลาวดวงดอกไม้ คลอช่วงต้น